ปักหมุดไทยชิงคลัสเตอร์ PCB แห่งใหม่ในอาเซียน

CHINA-ECONOMY
An employee works in a specially-lit area on a production line that produces printed circuit boards (PCB) for export at a factory in Jiujiang, in central China's Jiangxi province on July 24, 2024. (Photo by AFP) / China OUT / CHINA OUT
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : จิรภา บุญพาสุข ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจยุคใหม่อย่างมาก เพราะเป็นส่วนประกอบพื้นฐานและหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ หรือสารกึ่งตัวนำ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในวงจรของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับหลากหลายอุตสาหกรรม

โดย PCB จะทำหน้าที่เชื่อมต่อการทำงานของชิ้นส่วนต่าง ๆ โครงข่ายไฟฟ้าและวงจรภายในของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไฮเทค เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมไปถึงเทคโนโลยี 5G ที่มีความต้องการ PCB ประเภทที่มีความซับซ้อนสูงมากกว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปอีกด้วย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรม PCB โลกในภาพรวมไม่ค่อยสดใสมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์โลกที่อ่อนแอลง รวมทั้งปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าและทำให้มีสต๊อกสินค้าคงคลังส่วนเกินในระบบจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่า อุตสาหกรรม PCB โลกในปีนี้จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง จากความต้องการชิ้นส่วน PCB ในกลุ่มสินค้านวัตกรรมใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่ม AI Server สอดคล้องกับข้อมูลของสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (TPCA) ที่คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรม PCB โลกจะกลับมาขยายตัวอยู่ที่ 6.3% YOY ในปีนี้ หลังจากหดตัว 15.6% ในปีที่แล้ว อีกทั้งจะสามารถเติบโตเฉลี่ยที่ 4-5% ต่อปี ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันจีนยังคงเป็นผู้ผลิต PCB รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งกว่า 50% ของการผลิตทั้งหมดทั่วโลก รองลงมาคือ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

แต่ในระยะถัดไป เรามองว่าการผลิต PCB ในจีนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ส่งผลให้เกิดกระแสการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดคลัสเตอร์ PCB แห่งใหม่ขึ้นในอาเซียนรวมทั้งในไทย

Advertisment

โดยพบว่าในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรม PCB ของไทยฉายแววโดนเด่นมากที่สุดในอาเซียน สะท้อนได้จากมูลค่าการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรม PCB ที่สูงถึงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนจากบริษัทสัญชาติจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อน FDI มาจากข้อได้เปรียบของไทยจากการมีโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งและมีนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานการผลิต PCB ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ในเรื่องการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี

Advertisment

โดย SCB EIC คาดการณ์ว่าการส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 3-5% ต่อปี ระหว่างปี 2025-2027 จากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มสินค้าไฮเทคในตลาดโลกที่เติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม PCB ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลของสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทยที่ระบุว่า แนวโน้มการลงทุน PCB ในไทยที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ 4% เป็น 10% ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

แน่นอนว่าแนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในไทย จะหนุนให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน PCB ที่สำคัญของโลก รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศมากขึ้นตามไปด้วย แต่ความท้าทายสำคัญ คือการเร่งพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้พร้อมรองรับการก้าวไปสู่การเป็นคลัสเตอร์ PCB แห่งใหม่ในอาเซียน และเป็นฐานการผลิต PCB ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น

โดย SCB EIC มองว่าการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของภาครัฐเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้า โครงข่าย 5G ที่ครอบคลุม รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

ขณะที่ภาคธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิต PCB ควรเร่งพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามแนวคิด ESG เพื่อยกระดับการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการผลิต PCB ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน หัวใจสำคัญที่จะขาดไม่ได้ คือการพัฒนาทักษะแรงงานและศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ทั้งในส่วนของการ Upskill และ Reskill เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรม PCB อย่างยั่งยืนต่อไป