“ดิษทัต ปันยารชุน” เปิดกลยุทธ์ OR สู่สมรภูมิใหม่ “ธุรกิจบิวตี้-Virtual Bank”

ดิษทัต ปันยารชุน
ดิษทัต ปันยารชุน

หลังจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ขยายแนวรบเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจน้ำมัน จนธุรกิจในกลุ่มไลฟ์สไตล์หรือน็อนออยล์เติบโตขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่การขยายอีโคซิสเต็มของธุรกิจไลฟ์สไตล์ก็ยังไม่สิ้นสุด ล่าสุด “ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของโออาร์ ได้เปิดแนวรบใหม่สู่ธุรกิจสุขภาพและความงาม (เฮลท์แอนด์เวลเนส) เพื่อเติมเต็มอีโคซิสเต็มในสถานีบริการพีทีที สเตชั่น ท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจน้ำมันกำลังถูกดิสรัปต์

และอีกก้าวสำคัญคือ การกระโดดเข้าสู่ธุรกิจการเงิน ด้วยการปิดดีลร่วมทุนกับธนาคารกรุงไทย (KTB) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทลูกของ GULF เพื่อเตรียมพร้อมการยื่นขอไลเซนส์การเป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank (ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เรียนรู้และหาพาร์ตเนอร์

“ดิษทัต” ฉายภาพว่า ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา OR ได้จัดตั้งบริษัท โออาร์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนส จำกัด (ORHW) โดยมีเป้าหมายจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในตลาดสุขภาพและความงามในไทย ด้วยการเปิดร้าน found & found เป็นลักษณะของร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงาม ตอบโจทย์เทรนด์ของสังคมสูงวัย ในพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องความสวยความงาม ซึ่งความน่าสนใจคือ ตลาดมีขนาดใหญ่กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

“แวลูเชนธุรกิจเฮลท์แอนด์บิวตี้ยาวมาก วันนี้เริ่มต้นจากการเป็นค้าปลีกที่เป็นจุดแข็งของ OR ด้วยการเรียนรู้และหาพาร์ตเนอร์ โดยมีพาร์ตเนอร์ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลี เพื่อสร้างจุดแข็งและจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด โดยสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านส่วนใหญ่จะนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในระดับราคาที่จับต้องได้ ทั้งเครื่องสำอาง สกินแคร์ อาหารเสริมและวิตามิน”

ทั้งนี้หนึ่งในพันธมิตรสำคัญคือ “สุกิ โฮลดิ้ง” (Sugi Holding) ซึ่งเป็นผู้นำเครือข่ายร้านขายยารายใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งพาร์ตเนอร์สำคัญของ OR ก็คือ ธุรกิจไทย เพราะคือ
เป้าหมายของ OR ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ไทย แต่การที่จะเข้าสู่อีโคซิสเต็มของสุขภาพและความงามให้สำเร็จ ก็ต้องมีพันธมิตร ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งมีตลาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อที่จะดึงความสนใจของผู้บริโภคเข้ามาที่ found & found

“โดยในช่วงเริ่มต้นยังเป็นการทำค้าปลีกที่โออาร์ถนัด ส่วนการลงทุนเรื่องการผลิตคงต้องดูความเหมาะสมในสเต็ปต่อไป”

ADVERTISMENT

หาโมเดลที่ใช่เปิดแฟรนไชส์

ซีอีโอ OR ระบุว่า ต้องบอกว่าการเข้าสู่ธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนสของ OR ไม่ได้เริ่มต้นจากการนับหนึ่ง เพราะการขยายร้าน found & found เป็นการต่อยอดอีโคซิสเต็มของ OR จากสถานีบริการพีทีที สเตชั่น ที่มีผู้ใช้บริการกว่า 3 ล้านคนต่อวัน ขณะที่ธุรกิจสุขภาพความงามตลาดใหญ่มาก และทุกวันนี้มีผู้สนใจติดต่อขอเข้าร่วมอีโคซิสเต็มของ ORHW จำนวนมาก

แผนงานตอนนี้คือ การขยายสาขาให้ครบ 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 เพื่อหาโมเดลที่ใช่ ก่อนที่จะขยายการลงทุนแบบก้าวกระโดดในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งตามเป้าหมายก็คือ จะขยายสาขา found & found ให้ถึง 500 ภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี OR เริ่มต้นจากธุรกิจความงาม ส่วนธุรกิจสุขภาพอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี เพราะเรื่องสุขภาพจะต้องเป็นเรื่องของการขออนุญาตและใบอนุญาตต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไปคือ Virtual Bank

และสำหรับก้าวต่อไปที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับ OR คือ การกระโดดเข้าสู่ธุรกิจการเงินแบบเต็มตัว

“ดิษทัต” กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท OR ได้มีมติเห็นชอบให้โออาร์จับมือกับพันธมิตรอย่างธนาคารกรุงไทยและเอไอเอส (บริษัทลูกกัลฟ์) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ยื่นสมัครขอใบอนุญาต Virtual Bank ตอนนี้จึงสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการแล้ว

โดยทีมที่ปรึกษาโครงการนี้ ได้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในเรื่องที่ OR จะทำธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ ซึ่งในอนาคตทุกอย่างจะอยู่ในโมบาย ขณะที่การใช้เงินสดจะน้อยไปเรื่อย ๆ โอเปอเรชั่นระบบ ทรานแซกชั่นรับจ่ายเงิน ธนาคารสาขาจะค่อย ๆ หายไป เพราะคนต้องการความสะดวกสบาย

เติมเต็มอีโคซิสเต็ม

“ดิษทัต” อธิบายว่า Virtual Bank คือ การอนุมัติการปล่อยสินเชื่อบนพฤติกรรมผู้บริโภค ทำไมโออาร์เป็นผู้ถูกเลือก หรือทำไมเราไปเลือกจับมือกับเพื่อน ๆ (แบงก์กรุงไทยและเอไอเอส) เพราะมันฟิตกับอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งของโออาร์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค เพื่อไปต่อยอดกับการให้บริการทางการเงิน

เพราะโออาร์มี Stakeholder จำนวนมาก อย่างที่บอกมีคนเข้ามาใช้บริการในเน็ตเวิร์กของ OR วันละ 3 ล้านคน ตอนนี้ก็พยายาม ตรวจสอบข้อมูลสมาชิกต่าง ๆ ให้ครบถ้วนถูกต้อง

โดยในอีโคซิสเต็มของ OR ยกตัวอย่างเจ้าของร้านคาเฟ่อเมซอน ถ้าต้องการกู้เงิน สร้างบ้าน 40-50 ล้านบาท เราก็สามารถปล่อยกู้ได้เลย เพราะเราเห็นทรานแซกชั่นรับจ่ายของเขา Wealth ดีมากเลย ใครจ่ายตรงเวลา ใครจ่ายไม่ตรงเวลา พวกนี้สามารถนำข้อมูลมาจัดกลุ่มลูกค้าเป็นเลเวล 1-2-3 ได้หมด

“OR จะสามารถแทร็กข้อมูลได้ชัด โดยเฉพาะคนที่ทำทรานแซกชั่นกับเรา รับเงิน จ่ายเงินตรงเวลามั้ย ผู้เช่าพื้นที่ของเราที่เป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ เอสเอ็มอีเล็ก ๆ แต่มีความขยันขันแข็งก็เกิดอีโคซิสเต็มใหม่ ๆ ถือเป็นเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการเห็นการปล่อยเงินกู้ หาแหล่งเงินทุนให้กับนักธุรกิจตัวเล็ก”

OR ไม่ตกรถไฟแบงก์ไร้สาขา

“ดิษทัต” กล่าวว่า เมื่อ OR จะตกรถไฟไม่ได้ นี่ก็เป็นอีกสเต็ปในการนำข้อมูล ดาต้าเบสต่าง ๆ ในแอป บลูพลัส 8 ล้านเมมเบอร์ รวมทั้งร้านฟาวด์ แอนด์ ฟาวด์ ที่ในอนาคตขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มาเรียนรู้กัน การซื้อซ้ำ ๆ หลาย ๆ เรื่องพร้อม ๆ กัน เป็นการเอาดาต้ามาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้โออาร์เข้าสู่ธุรกิจการเงินเต็มตัว โดยที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับกรุงไทยและเอไอเอส แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าสัดส่วนถือหุ้นเท่าไหร่ เพราะจะมีการลงนามและแถลงข่าวร่วมกันอีกครั้ง

พร้อมระบุว่า ตอนนี้กลุ่มพันธมิตรของเรายังไม่ได้ยื่น แต่ยื่นแน่นอนในเดือนหน้า (กันยายน) ซึ่งตามข้อกำหนดของ ธปท. ต้องยื่นขอไลเซนส์ภายใน 19 กันยายนนี้

และนี่คือก้าวใหม่ของ OR ที่ก้าวออกจาก Comfort Zone สู่ Growth Zone