ไอ-เทล อวดโฉม i-Cattery ศูนย์วิจัยอาหารแมวมาตรฐานโลก

ไอเทล

ปัจจุบันกระแสการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ประดุจเจ้านายและทาส กำลังได้รับความนิยมในทั่วทุกมุมโลก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ได้คาดมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2567 ว่าจะขยายตัว โดยมีมูลค่าแตะ 4.46 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ “แมว” เติบโตก้าวกระโดด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม “ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารแมวของไอ-เทล” หรือ “i-Cattery” ของบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม

1 ปี สำเร็จระดับโลก

นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจไอ-เทลเกิดจากแนวคิดที่ไทยยูเนี่ยน ซึ่งเป็นบริษัทค้าอาหารทะเลรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นผู้แปรรูปปลาทูน่ารายใหญ่ เล็งเห็นโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นส่วนของปลาที่ไม่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ โดยนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพ และคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงฟื้นตัวดีขึ้น และเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม

ไอ-เทลจึงได้เปิดตัว “ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารแมว i-Cattery” ขึ้นเมื่อ มิถุนายน 2566 ด้วยความร่วมมือเชิงวิชาการกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล งบฯลงทุน 40 ล้านบาท เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยด้านโภชนาการ และวัดผลความชอบในรสชาติอาหารของแมว โดยให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเป็นศูนย์กลาง (Pet Centric) ผ่านการคิดค้น และพัฒนาสูตรอาหาร ที่สามารถช่วยเสริมให้น้องแมวเจริญเติบโต และมีสุขภาพแข็งแรง

พิชิตชัย วงศ์ปิยะ ไอเทล
พิชิตชัย วงศ์ปิยะ

จนถึงวันนี้ “i-Cattery” ภายใต้การดำเนินงานของไอเทล มาครบ 1 ปี ประสบความสำเร็จ โดยเป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจาก AAALAC International (Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care) ซึ่งเป็นรางวัลที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานสูงสุดด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ควบ ๆ ไปกับหลักสวัสดิภาพสัตว์

วิจัยอาหารแมวทำอย่างไร

สพญ.ศรีสุภา พงศ์ศรีวัฒน์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery กล่าวว่า กระบวนการรับรองของ AAALAC จะเริ่มจากการทบทวนและประเมินการทำงานภายในขององค์กรหรือสถาบัน โดยจะต้องจัดทำชุดข้อมูลและเอกสาร “Program Description” ซึ่งครอบคลุมทุกด้านของการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ในงานทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจาก AAALAC จะเข้ามาประเมินการทำงานในสถานที่จริง เพื่อพิจารณาการรับรอง ซึ่งสถาบันและองค์กรนั้น ๆ จะได้รับโอกาสในการพัฒนาการทำงานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผ่านมาตรฐาน เมื่อผ่านการรับรองแล้ว สถาบันจะต้องถูกประเมินซ้ำอย่างต่อเนื่องในทุก 3 ปี เพื่อรักษาสถานะดังกล่าวไว้

ADVERTISMENT

ทางศูนย์ได้มีการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สอดคล้องตามมาตรฐาน AAALAC International และที่สำคัญที่สุดคือการยึดมั่นในความโปร่งใสและการพัฒนาการทำงานเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นเลิศในด้านสวัสดิภาพสัตว์และหลักปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery มีแมวที่ทำหน้าที่เป็นผู้ทดสอบรสชาติอาหาร โดยจะเริ่มรับแมวตั้งแต่อายุ 3 เดือน ปัจจุบันมีแมวภายในศูนย์วิจัยจำนวน 50 ตัว ประกอบด้วย Scottish 8 ตัว (16%), British Shorthair 4 ตัว (8%), Korat 2 ตัว (4%), Siamese 3 ตัว (6%), Persian 4 ตัว (8%), American Shorthair 8 ตัว (16%) และ Domestic Shorthair 21 ตัว (42%) นับเป็นสายพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดภายในศูนย์ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีความฉลาดและได้รับความนิยมจากทั่วโลก

ADVERTISMENT

โดย “แมวที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง” จะต้องเข้ารับการทดสอบ Food Acceptability เป็นการให้แมวชิมอาหาร 1 ชาม, Food Palatability เป็นการให้แมวชิมอาหารจำนวน 2 ชาม เพื่อทดสอบและเปรียบเทียบความอร่อย, Stool Quality Analysis เป็นการดูภาพรวมของแมวหลังจากที่ทดสอบและชิมอาหาร และ Academic Research เป็นการทำความวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย

ซึ่งตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566-ไตรมาส 2 ปี 2567 มีแมวได้รับการทดสอบได้แล้วกว่า 288 ทดสอบ แบ่งเป็น Stool Quality Analysis จำนวน 5 แบบทดสอบ, Acceptability Test จำนวน 152 แบบทดสอบ (53%) และ Food Palatability จำนวน 131 แบบทดสอบ (45%) โดยในแต่ละวันแมวจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในบริเวณสนามแมวเล่น (Cat Playground) โดยมีพื้นที่ผ่อนคลายที่มีของเล่นและอุปกรณ์สำหรับแมวเตรียมไว้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีม Cat Specialist และเมื่อแมวอายุประมาณ 6 ปี จะเริ่มรีไทร์และทำการหาบ้านใหม่หรือรับเลี้ยงจนกว่าจะสิ้นอายุขัย

ขณะเดียวกัน การดูแลแมวมีการใช้ระบบอนามัยเข้ม (Strict Hygienic Conventional) เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีการควบคุมอุณหภูมิใช้ระบบการถ่ายเทอากาศและความชื้นที่เหมาะสมตามมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ ระบบการกรองอากาศมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลของคน รวมถึงมีขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรคและการกักตัว (Quarantine) สำหรับแมวตัวใหม่ก่อนเข้าศูนย์วิจัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลกระบวนการทำงานทางวิทยาศาสตร์

ไอเทลโกยรายได้ ปี’67 โต 19%

นายพิชิตชัยกล่าวถึงทิศทางธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของไอ-เทลในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ว่ามีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้เติบโต 18-19% จากปีก่อน

ซึ่งผลการดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ไอ-เทลมีรายได้จากยอดขายรวม 8,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรขั้นต้น 2,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณการขาย 49,953 ตัน เพิ่มขึ้น 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“เป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 18-19% จากปีก่อนที่เติบโต 15% โดยอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ปรับเพิ่มขึ้น 24-26% จากเดิมคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 21-22%”

ปัจจัยบวก-ลบในธุรกิจ

การวางเป้าหมายเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักของเราในปีนี้ เป็นผลจากปัจจัยบวกการฟื้นตัวของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาคทั่วโลก ประกอบกับการขยายตลาดไปยังต่างประเทศรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนั้น บริษัทมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากได้มีการฟอร์แคชเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ลุยตลาดยุโรป-อเมริกาเพิ่ม

นายพิชิตชัยกล่าวว่า การดำเนินงานหลักของไอ-เทลเป็นรูปแบบรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำทั้งในตลาดโลกและในประเทศ รวมถึงเป็นแบรนด์โชว์เคสสำหรับลูกค้ากลุ่ม OEM ควบคู่ไปกับการเป็นโปรดักต์ทางเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เอเชีย ยุโรป ไต้หวัน และจีน

โดยมีสัดส่วนรายได้ของบริษัท 99% มาจากการส่งออก และ 1% ตลาดในประเทศ สามารถแบ่งสัดส่วนของยอดขายตามประเภทของสินค้าหลัก 2 ประเภท ได้แก่ อาหารแมว 80% อาหารสุนัข 20% ซึ่งบริษัทมีแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ทำตลาดอยู่เอง ได้แก่ Bellotta, Marvo, ChangeTer, Calico Bay และ Paramount มีกลุ่มลูกค้าใหม่ราว 14 ราย ผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวน 712 รายการ และผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารสัตว์เลี้ยงกว่า 6,382 SKUs เพื่อรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเจาะกลุ่มตลาดใหม่ในประเทศที่มีกลุ่มลูกค้า High Margin ในประเทศที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง เช่น อิตาลีและฝรั่งเศส รวมถึงขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ OEM ไปยังประเทศกลุ่มยุโรป, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ตะวันออกกลางและเอเชีย ตลอดจนมีโปรเจ็กต์ร่วมกับคู่ค้า ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนของโปรเจ็กต์ภายในปี 2570 ส่วนแผนการทำตลาดในประเทศไทยจะขยายแบรนด์ของตัวเองประมาณ 2-3 แบรนด์เพิ่มเติม