
ส่งออกข้าวผวาศึกสองด้าน บาทแข็งค่าแรงเกือบหลุด 32 บาท/ดอลลาร์ คู่แข่ง‘อินเดีย’หวนคืนสังเวียนส่งออก ฉุดราคาร่วงหวั่นกระทบลากยาวถึงปี 68 ด้านสภาผู้ส่งออกฯ ชำแหละปัจจัยเสี่ยงโค้งสุดท้าย ด้าน ธปท. รับเข้าแทรกแซงดูแลค่าเงิน วงในเผยช่วง 2 เดือนกว่าทุนสำรองฯ พุ่งกว่า 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะ 32.1 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก ขณะที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า มีการแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อดูแลความผันผวน
ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ว่า ในเรื่องเงินบาทที่แข็งค่า มีความสัมพันธ์กับหลายเรื่อง เช่น เรื่องกรอบเงินเฟ้อ ซึ่งต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในการทำงาน ตนมีการดูข้อมูลอยู่ตลอด และก็มีการยกหูโทรศัพท์พูดคุยกันบ้าง ซึ่งทางแบงก์ชาติก็รายงานว่ามีการเข้าแทรกแซงดูแลค่าเงินบาท โดยบอกว่าจะดูแลให้ดีที่สุด
แบงก์ชาติเข้าดูแลค่าเงินบาท
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ธปท.พบว่า ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ (Reserves) ของไทย ในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. 2567 ถึง 20 ก.ย. 2567 ขยับเพิ่มขึ้นจาก 252,544 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 267,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเพิ่มขึ้นของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยสะท้อนว่า ธปท.ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่า ด้วยการซื้อดอลลาร์เก็บเข้ามา อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีเพียงสกุลเงินดอลลาร์เท่านั้น แต่ยังมีหลายสินทรัพย์ที่สามารถเป็นทุนสำรองได้
“การดูแลค่าเงินบาทอาจจะมีทั้งในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าและแข็งค่ามีความผันผวนเกินไป ซึ่งในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จะเห็นในตลาดมีแรงเทขายดอลลาร์เพื่อซื้อเงินบาท ทำให้ ธปท.ต้องเข้าไปลดความผันผวนโดยการซื้อดอลลาร์ และขายบาทออกมา ทั้งในตลาด Spot และการทำ Forward เป็นต้น ประกอบกับในช่วงที่ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท ส่งผลให้มูลค่าของสกุลเงินเพิ่ม ซึ่งสะท้อนไปยังทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น”
ส่งออกข้าวเจอศึก 2 ด้าน
ขณะที่ นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นเกือบหลุด 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลต่อราคาส่งออกข้าวในขณะนี้ รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท เพราะราคาส่งออกข้าวไทยต้องแข่งขันกับคู่แข่ง โดยเฉพาะอินเดียที่กลับมาส่งออก หากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ยังสามารถแข่งขันกับอินเดียได้ แต่หากรัฐบาลไม่มีมาตรการออกมาพยุงค่าเงินบาทและยังปล่อยให้แข็งค่าต่อเนื่อง จะส่งผลต่อราคาข้าวในประเทศและกระทบต่อเกษตรกรในที่สุด
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการที่เงินบาทแข็งค่า และปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่อินเดียประกาศกลับมาส่งออกข้าววานนี้ (30 ก.ย. 67) ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยลดลง 30-40 เหรียญสหรัฐต่อตันในวันเดียว ถือว่าลงเร็วมาก โดยขณะนี้ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 510-520 เหรียญสหรัฐต่อตัน ใกล้เคียงกับราคาส่งออกข้าวของอินเดียที่ 490 เหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นราคาข้าวในประเทศลดลงเฉลี่ย 100 บาทต่อกระสอบ หรือ 1,000 บาทต่อตัน ทำให้ราคาข้าวเปลือกลดลงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10,000 บาทต่อตัน
จากนี้ต้องจับตาทิศทางการดำเนินนโยบายส่งออกข้าวอินเดียต่อไปว่าจะปรับลดราคาส่งออกลงอีกหรือไม่ เพราะอินเดียยังมีข้าวที่ค้างอยู่ในสต๊อก และมีผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังเก็บเกี่ยว อินเดียจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทยปีนี้ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 8.5 ล้านตันได้หรือไม่ ในส่วนของประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมดูแลเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ เพื่อรองรับข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดช่วงปลายปี 2567
ผวาส่งออกข้าวปี’68 ทรุด
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากรายงานข่าวระบุเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 ทางการอินเดียได้อนุมัติให้กลับมาส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอีกครั้ง อีกทั้งยังได้กำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับการส่งออกข้าวขาวที่ 490 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งจากการติดตามขณะนี้ ผู้นำเข้ายังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่จากอินเดีย เนื่องจากรอดูสถานการณ์ผลผลิตที่จะออกในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นข้าวใหม่ทั้งของไทย เวียดนาม เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากกระแสครั้งนี้ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีการปรับลดลง
จากนี้จะทำให้ตลาดส่งออกข้าวมีการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราคา ปัจจุบันเมื่อดูราคาข้าวขาวไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 540 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากก่อนหน้า 650 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 520 เหรียญสหรัฐต่อตัน และจากปัญหาค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลก เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้ราคาข้าวไทยแพงขึ้น 15 เหรียญสหรัฐต่อตัน
“เป้าหมายการส่งออกข้าวไทย ปี 2567 นี้ยังมองอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน โดย 9 เดือนแรกของปีส่งออกได้แล้ว 7 ล้านตัน และคาดว่าในเดือนกันยายน 2567 จะส่งออกได้ประมาณ 600,000 ตัน และ 3 เดือนสุดท้ายของปี เชื่อว่าไทยยังสามารถส่งออกข้าวได้เฉลี่ยเดือนละ 500,000 ตัน ซึ่งทำให้การส่งออกเข้าทั้งปีเป็นไปได้ตามเป้าหมาย”
แต่ห่วงการส่งออกข้าวในปี 2568 โอกาสที่การส่งออกข้าวในปี 2568 จะเหลืออยู่ที่ 6.5 ล้านตัน เมื่อการส่งออกลดลงก็จะส่งผลให้การรับซื้อข้าวในประเทศจะลดลง และทำให้ราคาก็อาจจะปรับลงเช่นกัน โดยปัจจุบันราคาข้าวขาวในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาทต่อตัน
จากซัพพลายข้าวในตลาดโลกเยอะ ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า จะมีผลต่อการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับอินโดนีเซียที่เดิมมีการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 4 ล้านตัน คาดว่าปีหน้าจะนำเข้าประมาณ 1.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดผู้นำเข้าเพิ่ม
ผู้ส่งออกขาดสภาพคล่อง
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโตในกรอบ 1-2% โดยหากจะส่งออกได้ 2% จากนี้ 4 เดือนไทยจะต้องส่งออกเฉลี่ยให้ได้ 23,400 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน แต่หากส่งออกขยายตัวที่ 1% จะต้องส่งออกได้ 22,700 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน
“การส่งออก 3 เดือนที่เหลือไร้สัญญาณบวก เนื่องจากผู้ส่งออกต้องแบกรับปัจจัยเสี่ยงที่กระทบ ทั้งเรื่องปัญหาเงินบาทแข็งค่า ผลกระทบที่จะเห็นคือ การขาดสภาพคล่อง กำไรลดลง การขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงาน และค่าระวางเรือ ที่แม้จะยังไม่มีปัญหาในตอนนี้ แต่ก็เหมือนระเบิดเวลา เพราะหากสงครามกลับมารุนแรงอีกครั้งจะกระทบต่อแนวโน้มราคาน้ำมัน ค่าขนส่งที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้”
ปัจจัยเสี่ยง 3 เดือนสุดท้าย
นายชัยชาญกล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในโค้งสุดท้ายของปี ได้แก่ 1) ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญ แค่ 3 เดือนแข็งค่า 12% ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก เนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ส่งผลต่อสภาพคล่องทางธุรกิจต่อเนื่อง หากเทียบกับคู่แข่งถือว่าเงินบาทไทยยังแข็งค่ามากเวียดนามแข็งค่า 1.4% จีนแข็งค่า 1.3% อินเดียอ่อนค่า 0.53%
2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงคาดการณ์ยาก เช่น สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลต่อการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน และมีผลกระทบให้ซัพพลายเชนทั่วโลกเกิดความผันผวน นอกจากนี้เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา สหรัฐเริ่มมาตรการ Safeguard กับสินค้ารถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แผงโซลาร์เซลล์ และปี 2568 ขยายมาตรการไปยังสินค้าถุงมือยาง ชิป และอื่น ๆ ส่งผลให้จีนต้องเร่งกระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ และตลาดเอเชียที่ยังมีศักยภาพ
3) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) หดตัวต่อเนื่อง แม้ยังคงมีดีมานด์อยู่ 4) ปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล แม้ค่าระวางเรือเริ่มปรับลดลงมาในหลายเส้นทาง แต่เป็นการปรับลดลงจากที่ปรับขึ้นไปสูงก่อนหน้านี้ ยกเว้นเส้นทางสหรัฐอเมริกา จากปัญหาการสไตรก์ของคนงานท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออกและตะวันตก ส่งผลให้เรือล่าช้า และ 5) ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบมาก และส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนวัตถุดิบและปริมาณสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดไม่เพียงพอในระยะถัดไป
4 ข้อเสนอภาครัฐเร่งแก้ไข
นายชัยชาญกล่าวว่า พร้อมกันนี้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญให้กับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข คือ 1) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3) พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มากเกินไป
และ 4) เร่งรัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางการค้าใหม่ ๆ ทั้งระดับประเทศ และระดับพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคู่ค้านั้น ๆ รวมไปถึงการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขาย ซึ่งประเทศไทยมีข้อตกลงในการซื้อขายที่ใช้สกุลเงินท้องถิ่น อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมช่วง 8 เดือน มกราคม-สิงหาคม ปี 2567 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 197,192.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.2% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกขยายตัว 4.3% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 203,543.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยขาดดุลเท่ากับ 6,351.0 ล้านเหรียญสหรัฐ