ปิดฉากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย นายกรัฐมนตรี ชู 3 แนวคิด สร้างโอกาส เชื่อมโยงสมาชิกเพื่อผลประโยชน์ประชาชน พัฒนาระบบการเงิน ผลักดันการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และเร่งเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียว
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง ณ ลิมา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม APEC Economic Leaders’ Retreat
นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน เชื่อว่าเอเปคเป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ
มั่นใจว่าการทำงานร่วมกันของสมาชิกจะสามารถสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกันและมีปัจจัยใหม่ ๆ ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกประเทศ โดยมีประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
โดยนำเสนอ 3 แนวคิดหลัก ต่อที่ประชุม
แนวคิดที่ 1 สร้างโอกาสสำหรับทุกคน
รัฐบาลไทยกำลังพิจารณานำ Negative Income Tax ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เสียภาษีและไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี มาอยู่ในระบบฐานข้อมูลเพื่อจัดสรรประโยชน์จากรัฐที่เป็นธรรมมากที่สุด เนื่องจากในไทยยังพบว่ายังมีแรงงานและธุรกิจขนาดเล็กมากกว่าครึ่งยังอยู่ในการทำงาน “นอกระบบ”
สำหรับสมาชิกเอเปค เห็นว่าควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพ และโครงสร้างพื้นฐาน ด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนได้โดยง่าย และควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทาง สำหรับนักธุรกิจเอเปคในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้น
แนวคิดที่ 2 เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
ผลักดันการทำความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก FTAAP ให้เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการค้าร่วมกัน และจะเสริมสร้างขีดความสามารถในประเทศสมาชิกได้
ขณะเดียวกันประเทศไทยเชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่ ๆ และพัฒนาในโลกการเงินที่เรียกว่า “สร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน” ที่สมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกด้วย
แนวคิดที่ 3 เร่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ หรือ BCG เป็นการผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ Bio Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy และเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy ขอให้เอเปคเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการเปลี่ยนไปสู่ BCG เพื่อ “สร้างอนาคตที่ยั่งยืน” ร่วมกัน
สำหรับไทยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยวางแผนการเพิ่มพลังงานสะอาด 20 กิกะวัตต์ภายใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065
ทั้งนี้ที่ประชุมเอเปครับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ปฏิญญาผู้นาเขตเศรษฐกิจเอเปค 2.ถ้อยแถลงอิชมา ว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก 3.แผนงานลิมา เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค
นายกฯ กล่าวว่า ขอบคุณประธานาธิบดีเปรูและประชาชนชาวเปรูในการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดการเดินทางมากรุงลิมา และขอขอบคุณในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อผู้นำเอเปคเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่เจ้าภาพเปรูได้เลี้ยงรับรองด้วยอาหารที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเปรูออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
ขอขอบคุณกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับสมาชิกเอเปคทราบถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน
หลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงในวันที่ 18 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 11.00 น.