4 บิ๊กธุรกิจกะเทาะโอกาส THAILAND 2025

สัมมนา THAILAND 2025

เกาะติดภาคเอกชน 4 ราย ที่ขึ้นเวทีงานสัมมนา THAILAND 2025 โอกาส ความหวัง ความจริง เริ่มจากนายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัล หรือภาพรวมของธุรกิจแพลตฟอร์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจดิจิทัลโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้เมื่อเจาะรายละเอียดมาที่ไทยจะพบว่ามีการเติบโตแบบปีต่อปีที่ 20% ขณะที่การขยายตัวของ GDP ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 2-3% เท่านั้น

มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2567 คาดว่าอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (1.59 ล้านล้านบาท) และมีโอกาสขยายตัวเป็น 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (4.5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573 โอกาสของธุรกิจแพลตฟอร์มในไทยมีอีกมาก เพราะยังมีช่องว่างให้เติบโต เห็นได้จากจำนวนการเข้าถึงบริการต่าง ๆ (Penetration Rate) ที่มีสัดส่วนไม่ค่อยเยอะ เช่น ฟู้ดดีลิเวอรี่ 14% บริการเรียกรถ 9% และ Digital Payment 41% เป็นต้น

สตาร์ตอัพไทยติดทางตัน

แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มจะมีทิศทางที่สดใส แต่ในแง่ของการลงทุนที่เป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเหล่านี้ยังไม่กลับมา ปี 2564 มูลค่าการระดมทุนในสตาร์ตอัพและบริษัทเทคโนโลยีอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (9.37 แสนล้านบาท) ปี 2565 อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (7.63 แสนล้านบาท) แต่ปี 2566 กลับเหลือเพียง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2.77 แสนล้านบาท) เพราะตลาดหุ้นเทคโนโลยีหดตัวอย่างหนักในช่วงโควิด-19

นายยอดกล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบความสามารถในการดึงดูดใจนักลงทุนสตาร์ตอัพระหว่างประเทศในอาเซียนด้วยกัน จะพบว่าไทยรั้งอยู่ในอันดับ 6 เป็นรองเวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สาหตุคือ ความไม่ชัดเจนเรื่อง “Exit Pathways” หรือวิธีการออกจากการลงทุน ซึ่งมีปัจจัยมาจากความสามารถในการเข้า IPO แนวทางการเกิดดีลควบรวมกิจการ (M&A) และข้อบังคับของผู้กำกับดูแล

3 ข้อเสนอหนุน ศก.ดิจิทัลไทย

นายยอดกล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตยิ่งขึ้นมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1.การทำให้ SMEs มีความเชี่ยวชาญในการใช้งานดิจิทัล 2.เพิ่มความชัดเจนเรื่อง Exit Pathways ผ่านการทำ M&A หรือการเข้า IPO และ 3.นโยบายของภาครัฐต้องส่งเสริมการทำธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของกลุ่มแพลตฟอร์มดิจิทัล

ADVERTISMENT

“LINE MAN Wongnai มีแผนเข้า IPO ในตลาดหุ้นไทยปีหน้า เชื่อว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำจะช่วยพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่าการลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มไทยมี Exit Pathways ที่ชัดเจน ช่วยให้อีโคซิสเต็มของบริษัทเทคโนโลยีไทยแข็งแรงขึ้น และทำให้เม็ดเงินการลงทุนไหลเวียนอยู่ในประเทศ”

“มาม่า” พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า แม้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยจะเติบโตต่อเนื่อง แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับจำกัด สะท้อนจากยอดบริโภคที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จาก 52 ซองต่อคนต่อปี เป็น 55 ซองต่อคนต่อปี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

“มาม่า” ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะการเข้ามาตีตลาดของแบรนด์ต่างชาติในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการ “ทลายกำแพงราคา” จากเดิมที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีราคาจำกัดอยู่ที่ 6-7 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นวิกฤตที่ต้องรับมือ แต่เรากลับมองว่าเป็นโอกาสที่จะปรับตัวและพัฒนาสินค้าใหม่ โดยเราได้รีแบรนดิ้งใหม่จาก “มาม่าโอเรียนทัลคิทเช่น” ที่ขายราคา 13-14 บาท เป็น “มาม่าโอเค” ที่ขายราคา 15 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จนทำให้ปัจจุบัน “มาม่าโอเค” มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 10%

“หยั่น หว่อ หยุ่น” มุ่งสู่อนาคต

นายวสุพล ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ กรรมการและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายในประเทศ บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรุงแบรนด์ “เด็กสมบูรณ์” กล่าวว่า แม้ตลาดเครื่องปรุงรสมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหาร แต่ภาคลูกค้าครัวเรือนกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการที่คนรุ่นใหม่ทำอาหารเองน้อยลง ส่งผลให้การรับรู้แบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปลดลงต่อเนื่อง

เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้อีก 100-200 ปี จึงต้องมุ่งเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมถึงชิงโพซิชั่นการเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ด้วยการต่อยอดสินค้าในพอร์ตโฟลิโออย่างซีอิ๊วสูตรต่าง ๆ ให้เป็นสินค้ารูปแบบใหม่นอกเหนือจากซีอิ๊ว พร้อมทั้งตอบโจทย์ด้านฟังก์ชั่นความสะดวกสบายในการใช้ทำอาหาร

พัฒนา “ซีอิ๊วเม็ด” ส่งออก

ล่าสุดบริษัทส่ง “ซีอิ๊วเม็ด” ซีอิ๊วขาวสูตร 1 ในรูปแบบเม็ด ซึ่งบริษัทพัฒนาขึ้นเป็นรายแรกของโลก วางจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านช่องทางกูร์เมต์มาร์เก็ต โดยมีหลากหลายจุดเด่น เช่น ปริมาณ 1 เม็ดเทียบเท่าซีอิ๊ว 2 ช้อนโต๊ะ (30 มิลลิลิตร) เหมาะสำหรับ 1 เสิร์ฟพอดี, ละลายเร็วใน 5 วินาทีเมื่อสัมผัสอาหาร จึงสามารถใช้ผัด-ต้มได้ทันที, การบรรจุแบบแยกเม็ดให้พกพาง่าย สามารถขนส่ง-กระจายสินค้าได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำลง

บริษัทส่งซีอิ๊วเม็ดวางจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีนมาระยะหนึ่งแล้ว ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก จึงเชื่อว่าซีอิ๊วเม็ด ซึ่งบริษัทพัฒนาขึ้นเป็นรายแรกของโลกนี้ จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ผลักดันไทยสู่ระดับโลก และเป็นตัวเปลี่ยนแปลงวงการเครื่องปรุงทั่วโลก รวมถึงทำให้วงการเครื่องปรุงกลุ่มซีอิ๊ว-ซอสสนุกยิ่งขึ้นอีกด้วย

ไอทีความสำคัญโลกธุรกิจ

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) กล่าวว่า หากพูดถึงโอกาสของภาคธุรกิจในประเทศ จากภาพจำของรายได้ต่ำ ฟื้นตัวช้า โตช้า และไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้มีทางรอดเดียว คือต้องมีไอทีลงไปอยู่ในจุดต่าง ๆ เพื่อเกิดการกระตุ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เปิดมา 35 ปี ปัจจุบันมีกว่า 1.4 หมื่นร้านค้า แต่รวมยอดขายทุกร้านไม่เท่า “TikTok” ซึ่งเปิดมาประมาณ 3 ปี

มีเพียง 8-9 พันบริษัทในประเทศที่มีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางไอที หรือคิดเป็นเพียง 2% ขณะที่ SMEs อีกราว 3 ล้านรายแทบไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงการบริการทางด้านไอทีเลย สะท้อนให้เห็นว่าไอทียังมีโอกาสอีกมากที่จะเข้าถึงบริษัทเหล่านี้

มอง “เอไอ” ทรงพลังที่สุด

ปัจจุบันเวียดนามผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่าประเทศไทยเป็นเท่าตัว เอาแค่เฉพาะการบริการด้านไอทีที่ส่งออกอย่างเดียวก็เกินแสนล้านบาท ไทยต้องปลูกข้าว ปลูกทุเรียนขนาดไหนถึงจะได้แสนล้าน ปัจจุบันราคาข้าวตันละ 1.6 หมื่นบาท ซึ่งในภาคบริการด้านไอทีอาจจะใช้เวลาแค่ 2 วันเท่านั้น ถ้ามูฟจากภาคเกษตรมาที่ไอทีเซอร์วิสเหมือนที่เวียดนามทำ จะเติบโตเป็น 10 เท่า โอกาสที่เห็นยังมีเยอะที่เราสามารถทำได้

ส่วนเรื่องเอไอ หลังจากที่ได้เรียนและศึกษาก็กลับมาบอกที่ออฟฟิศเลยว่า นับแต่นี้ไปจะไม่รับพนักงานที่ไม่รู้เอไอ เพราะเอไอนั้นทรงพลังมากจริง ๆ การทรานส์ฟอร์มโดยใช้เอไอจะสามารถพลิกได้ทั้งบริษัท สังคม และประเทศ เพราะฉะนั้นโอกาสขณะนี้มีเยอะ นายศิริวัฒน์กล่าว

ไทยต้องพัฒนามากขึ้น

นายศิริวัฒน์กล่าวอีกว่า เปรียบเทียบให้เห็นภาพ รถไฟไทยมีตั้งแต่สมัย ร.5 เริ่มก่อนญี่ปุ่นด้วย แต่ผ่านมา 100 กว่าปีไทยยังต้องซื้ออยู่เลย ไอทีก็เช่นกัน มีการใช้เยอะแต่ไม่เคยลงทุน ไม่เคยคิดจะสร้าง ไม่มีซอฟต์แวร์หรือบริการด้านไอทีในประเทศไทยที่สามารถส่งออกได้ อุตสาหกรรมไอทีจึงขาดดุล 100%

เป็นเรื่องที่หนักหนาพอสมควร ความน่ากลัวในสภาพตอนนี้คือไทยอ่อนแอ และไม่มีความสามารถในการแข่งขันหรือการชนะเหนือตลาดไอที ผลคือใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนของไอทีพุ่งขึ้นเร็วเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ ในประเทศไทยที่จีดีพีโตแค่ 2% แต่ไอทีโต 8-15% จะไหวหรือไม่ และปีที่แล้วธุรกิจไอทีหุ้นขึ้นทุกตัวซึ่งทำง่ายมาก นั่นคือการเพิ่มราคาขาย

“ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเลิกใช้ไอทีต่ำสุดในภูมิภาค เราใช้ไอทีจนเป็นพิษ ถูกพันธนาการโดยไม่มีทางเลือก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องคิดวิธีการลดต้นทุน โฟกัสเรื่องโอเพ่นซอร์ซ หรือพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับตลาด SMEs ของเรา”