คอลัมน์ : สัมภาษณ์
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศป้ายแดง เพิ่งรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567
“อารดา เฟื่องทอง” ได้แถลงนโยบายการทำงานของกรมการค้าต่างประเทศ ในปี 2568 ภายใต้สถานการณ์โลกและเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีความรุนแรงขึ้น ทั้งการแข่งขันด้านราคา มาตรการกีดกันต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ การกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย และการส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดน ตามยุทธศาสตร์ปี 2567-2570 ที่ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าให้ได้ที่ 2 ล้านล้านบาทต่อปี หรือขยายตัวที่ 3%
เตรียมมาตรการรับมือทรัมป์ 2.0
การแข่งขันทางการค้าในปี 2568 ภายใต้การกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อว่าการแข่งขันจะมีความรุนแรงขึ้น และจะมีการออกมาตรการต่าง ๆ มีความเข้มข้น โดยเชื่อว่าทุกประเทศจะได้รับผลกระทบ รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จะมีการออกมาตรการปกป้องประเทศ สำหรับประเทศไทยเองจำเป็นจะต้องปกป้องตัวเองและอุตสาหกรรมภายในประเทศให้มากขึ้น
รวมไปถึงผู้ประกอบการ นักธุรกิจต้องยกระดับตัวเอง เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยกรมพร้อมที่จะเป็นตัวแทนในการพูดในเวทีต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่าย องค์กร ทุกหน่วยงาน ปกป้องและรักษาอุตสาหกรรมภายในประเทศ
นอกจากนี้ คาดว่าการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในฝั่งเอเชียและอาเซียนจะมีมากขึ้น เช่น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งฟิลิปปินส์ จากผลกระทบ ทรัมป์ 2.0 และการที่จะให้ความสำคัญ ปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นที่กรมจะต้องติดตามดูแลและพิจารณามาตรการต่าง ๆ นำออกมาใช้อย่างจริงจังและเหมาะสม เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ เซฟการ์ด มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือ CVD รวมไปถึงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ AC
เดินสายดันส่งออกข้าวไทยปี’68
การส่งออกข้าวในปี 2568 กรมมีแผนจะเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และแคนาดา โดยกรมมีแผนที่จะเดินทางเยือนประเทศดังกล่าว เพื่อสานสัมพันธ์การนำเข้าข้าวจากไทยให้มากขึ้น ขณะที่จะยังคงมุ่งรักษาตลาดเดิมด้วย โดยจะหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวในการผลักดันและรักษาตลาดข้าวของไทยไว้
นอกจากนี้จะเร่งกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวเพื่อยังคงสร้างความประทับใจในมาตรฐาน คุณภาพข้าวไทย ผ่านงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention 2025 ในเดือนพฤษภาคม 2568 รวมถึงการนำผู้ประกอบการข้าวไทย ร่วมงานแสดงสินค้าอาหารหรือไทยเฟคของไทยที่จะมีการจัดทุกปีด้วย และงานแสดงสินค้านานาชาติ อาทิ BIOFACH ANUGA Foodex รวมไปถึงการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ข้าวพรีเมี่ยม ที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้นำเข้าในต่างประเทศ
“แต่ต้องยอมรับการทำตลาดข้าวปีหน้าจะเป็นอีกปีที่ค่อนข้างเหนื่อย เพราะมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องผลผลิต ทั้งของประเทศผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย จะมีผลต่อการแข่งขันราคาที่รุนแรงขึ้น จึงมีโอกาสที่ตัวเลขการส่งออกปีหน้าจะลดลงจากปีนี้ ส่วนเป้าหมายการส่งออกข้าวในปีหน้าบางหน่วยงานมีการประเมินไว้ว่าจะส่งออกข้าวอยู่ที่ 6.7 ล้านตัน อย่างไรก็ดี กรมอยู่ระหว่างหารือกับผู้ส่งออกถึงเป้าหมายการส่งออกข้าวที่ชัดเจน คาดว่าจะสามารถระบุตัวเลขได้ในเร็ว ๆ นี้”
นอกจากนี้ กรมยังเตรียมเดินหน้านโยบายขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี อย่างต่อเนื่อง โดยจะเร่งเปิดโต๊ะเจรจาขายข้าวกับรัฐบาลอินโดนีเซีย และจีน เป็นต้น สำหรับการส่งออกข้าวในปี 2567 ลุ้นไทยส่งออกข้าวทั้งปีได้ 10 ล้านตัน แต่เบื้องต้นคาดว่าการส่งออกเข้าทั้งปีจะทะลุ 9 ล้านตันแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศผู้นำเข้ายังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง
เป้าค้าชายแดน โต 2 ล้านล้าน
ด้านการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปี 2568 เชื่อว่าจะยังขยายตัวตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยปี 2567-2570 ตั้งเป้ามูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนโต 2 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3% ซึ่งกรมพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและลดปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดน-ผ่านแดนอย่างเต็มที่ และหากไม่มีสถานการณ์รุนแรง คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าชายแดน-ผ่านแดนในปีหน้า จะอยู่ที่ 1.84 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ กรมมีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดน 6 ครั้งในเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจ เป็นต้น
สำหรับแผนการผลักดันและส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดน ตามโครงการมหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2568 มีแผนที่จะดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและจังหวัดชายแดน หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ดำเนินงานและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกความร่วมมืออนุภูมิภาคระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง และปี 2567 ที่ผ่านมาจัดแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสงขลา
ส่วนสถานการณ์การติดตามการเปิด-ปิดจุดผ่านแดน ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยเป็นการเปลี่ยนสถานะจากจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการก่อสร้าง เป็นจุดผ่านแดนถาวร และปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านปากห้วย อ.ท่าลี่ จ.เลย เนื่องจากมีการเปิดใช้งานจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง ไทย-ลาว บ้านนากระเซ็ง อ.ท่าลี่ จ.เลย ทำให้ไม่มีการใช้งานจุดผ่านแดนถาวรบ้านปากห้วย
ส่งผลให้ปัจจุบัน มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดแล้ว 86 แห่ง จากทั้งหมด 94 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 73 แห่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสนับสนุนผลักดันการเปิดด่านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประสานประเทศเพื่อนบ้านให้เปิดด่านตรงข้ามกับที่ฝั่งไทยเปิดแล้วหรือมีความพร้อมที่จะเปิดด่าน
ส่วนมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน ในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ประมาณ 4% ตามอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีที่ตั้งไว้ตามยุทธศาสตร์การค้าชายแดน ที่จะเป็น 2 ล้านล้านบาทในปี’70 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท
กระตุ้นไทยใช้สิทธิประโยชน์ FTA
ในปี 2568 คาดการณ์แนวโน้มการใช้สิทธิ FTA ของไทยทั้งหมด 12 ฉบับ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการส่งออกผ่านการใช้สิทธิ FTA และการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศที่มีความเข้มข้น เนื่องจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA เป็นการสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยได้เพิ่มมากขึ้น โดยอันดับหนึ่งคาดว่าจะยังคงเป็นตลาดอาเซียน สินค้าที่มีแนวโน้มใช้มากที่สุด เช่น ทุเรียน ที่ส่งออกไปตลาดจีน
“FTA ทั้งหมด 12 ฉบับที่มีอัตราการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นในปี 2567 เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เปรู ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ส่งออกไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความตกลงเร่งรัดการลดภาษีไทย-อินเดีย ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ส่งออกไปอินเดีย) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย”
อย่างไรก็ดี กรมจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสร้างแต้มต่อทางการค้าผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าผ่านระบบการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลของกรมการค้าต่างประเทศ การเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า หรือแม้แต่การอบรมแบบโฟกัสกรุ๊ปให้ความรู้และตอบข้อซักถามเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้สิทธิในแต่ละกรอบ FTA ที่น่าสนใจด้วย