“ทรัมป์” ขู่ขึ้นภาษีชิป-ยา-รถยนต์ มึนนโยบายหวั่นสินค้าไหลมาไทย

trump

เอฟเฟ็กต์รายวัน “ทรัมป์” ขู่ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% พ่วงเซมิคอนดักเตอร์-ยา มีผลเร็วสุด 2 เมษายนนี้ บีบโรงงานย้ายฐานสู่อเมริกา ส.อ.ท.มึนนโยบายย้อนแย้ง ชี้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ TSMC จากไต้หวันมีโรงงานที่แอริโซนาอยู่แล้ว รถยนต์กระทบแน่ อุตสาหกรรมยากระทบตรงน้อย แต่ห่วงยายุโรป-อินเดียทะลักไทย

นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังคงไม่หยุดเขย่าเศรษฐกิจโลก ด้วยนโยบาย America First โดยล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวกับสื่อมวลชนในห้องทำงาน ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า มีแผนขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วสุดในวันที่ 2 เมษายนนี้ นอกจากนี้จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอื่น ๆ อย่างเภสัชภัณฑ์และเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มอีกในระดับเดียวกันหรือสูงกว่า เนื่องจากทรัมป์ต้องการให้บริษัทในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวย้ายมาตั้งฐานกิจการในสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าเพิ่มขึ้น 25% ไปก่อนแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคม 2568 มีเพียงออสเตรเลียประเทศเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นอัตราภาษีดังกล่าว

อุตฯชิปมึนนโยบายย้อนแย้ง

นายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกลุ่มไม่คิดว่าทรัมป์จะขึ้นภาษีชิปในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากปัจจุบัน 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเอง อย่าง กูเกิล (Google) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) แอปเปิล (Apple) และเอ็นวิเดีย (Nvidia) ใช้ชิปส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตจากบริษัท TSMC ของไต้หวันทั้งหมด

ซึ่งหากขึ้นภาษีจะเกิดผลกระทบทางลบกับสหรัฐเอง แน่นอนว่าจะต้องซื้อชิปในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้ส่งผลดีต่อสหรัฐ ขณะเดียวกันทาง TSMC ก็ลงทุนตั้งโรงงานในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา อยู่แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จึงไม่จำเป็นที่ต้องสร้างวิธีตั้งกำแพงภาษีแล้วดึงการลงทุนเข้ามา เพราะการใช้วิธีแบบนี้ มันไม่สามารถทำได้กับทุกอุตสาหกรรม

“TSMC เป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ที่รวมไปถึงเซมิคอนดักเตอร์ โดยกินส่วนแบ่งตลาดของโลกถึง 80% ดังนั้น 4 บริษัทใหญ่ของสหรัฐหากไม่ซื้อจาก TSMC ก็ไม่สามารถซื้อกับใครได้แล้ว เพราะรายอื่นจะเป็นรายเล็ก ๆ”

ADVERTISMENT

ชี้ขึ้นชิป IC ถึงจะกระทบไทย

นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยเอง ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตชิปที่เป็นเซมิคอนดักเตอร์ได้ จะเป็นเพียงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้รับผลกระทบแน่ หากทรัมป์ขึ้นภาษีชิปที่นำไปใช้ใน IC (Integrated Circuit) เพราะไทยอยู่ในเชนของชิ้นส่วน IC และมีการส่งออก IC ไปสหรัฐค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ หากดูไส้ในจะเห็นว่า ผู้ผลิต IC เหล่านี้ก็เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งสินค้ากลับประเทศตัวเอง ซึ่งก็เชื่อว่าทรัมป์อาจต้องใช้เวลาทบทวนเรื่องนี้มากขึ้น หากจะขึ้นภาษีชิปในเชนเหล่านี้

รถส่งออกอเมริกาเหนือโต

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่ม และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้รับจากมาตรการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น หากจะให้ประเมินในวันนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่เชื่อว่าประเทศไทยน่าจะเสียสิทธิต่าง ๆ มากกว่าจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ส่วนของรายละเอียดต่าง ๆ ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะพูดในขณะนี้

ADVERTISMENT

แม้ว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งมีสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก เป็นตลาดส่งออก กลุ่มประเทศเดียวของกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีอัตราการเติบโตถึง 8.77% และสร้างรายได้จากการส่งออก คิดเป็น 9% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ทั้งปี 2567 ที่มีมูลค่า 952,550.17 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนเพื่อไปประกอบ คิดเป็นยอดส่งออกรถยนต์ทั้งสิ้น 95,781 คัน เป็นรถยนต์นั่ง 60% รถปิกอัพ 39% และรถพีพีวี เพียง 1% เท่านั้น เมื่อดูรายละเอียดพบว่า รถยนต์นั่ง มีการเติบโต 12.44% ปิกอัพ 3.46% ส่วนรถพีพีวี ติดลบ 1.07%

อะไหล่ทดแทนได้ประโยชน์

ด้านนายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท. และในฐานะรองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะมีบางส่วนของชิ้นส่วนโดยเฉพาะอะไหล่อาฟเตอร์มาร์เก็ตที่น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะออร์เดอร์น่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มการส่งออกเครื่องยนต์ และเครื่องอเนกประสงค์ไปสหรัฐนั้น น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ตรงนี้ยังต้องจับตาดูรายละเอียดอีกพอสมควร

ชิ้นส่วนจีนพลิกใช้ไทยฐานผลิต

ขณะที่ประโยชน์ทางอ้อมที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับ คือการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อไปประกอบรถยนต์ (ซีเคดี) ยังเม็กซิโก เพื่อส่งเข้าไปจำหน่ายต่อไปที่สหรัฐ น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับประโยชน์ทางอ้อมที่ไทยจะได้รับ คือการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาตั้งในประเทศไทย เพื่อให้ส่งออกไปยังสหรัฐได้

หวั่นยายุโรป-อินเดียทะลัก

นายสุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา ส.อ.ท. กล่าวว่า ยาที่ผลิตขึ้นในไทยมีการส่งออกไปที่สหรัฐ น้อยกว่า 5% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น การขึ้นภาษียาจึงไม่กระทบไทยแน่นอน แต่จะกระทบทางอ้อมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น คือ สินค้ายาจะถูกส่งเข้ามาขายที่ไทยมากขึ้น เพราะยุโรปซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเม็กซิโก แคนาดา อินเดีย จะหันมาส่งออกยังเอเชียและไทย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทางกลุ่มจำเป็นต้องตั้งรับเช่นกัน หากยาที่ไม่มีความจำเป็นหรือใช้ในการรักษาไม่ตรงกับโรคจะทะลักเข้ามา

ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมยาพยายามที่จะผลิตยาสมัยใหม่ให้ตรงกับการรักษามากขึ้น เช่น โรคสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยอย่าง ยาเบาหวาน ยาโรคหัวใจ ยาลดไขมันในเลือด ที่จะเน้นทำตลาดในอาเซียน ทำให้ปัจจุบันไทยเป็น ศูนย์กลางด้านการแพทย์

“สหรัฐเขาเป็นผู้นำด้านการวิจัยยา และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาจำนวนมาก เขาจะไม่ปล่อยให้ใครมาเป็นผู้ผลิตให้ เขาจะใช้วิธีร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทต่าง ๆ แล้วให้เอกชนรายนั้นไปเป็นผู้ได้สิทธิในการผลิต นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เราส่งไปสหรัฐน้อย ต่างจากยุโรปที่ส่งไปสหรัฐมาก ยุโรปจึงโดนหนักกว่าเรามาก” นายสุรชัยกล่าว