
กรมการค้าภายในเผยมติ นบข.จ่ายชาวนา 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน พิจารณารอบคอบ ผลดี-ผลเสีย เร่งให้ชาวนาไปขึ้นทะเบียน พร้อมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เร็วที่สุด
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นบข. ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติแนวทางช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปรัง คือการจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรโดยตรงไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินประมาณ 2,867 ล้านบาท นั้นรับว่าจะเป็นมาตรการชดเชยช่วยเหลือสุดท้าย เพราะเป้าหมายของรัฐบาลต้องการที่จะลดการอุดหนุน และต้องการทำให้ภาคเกษตรของไทยมีประสิทธิภาพ ยกระดับผลผลิต ปลูกพืชที่สร้างรายได้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น จากที่ต้องใช้งบประมาณปีละแสนล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรโดยตรงไร่ละ 1,000 บาท วงเงินที่ใช้ไม่ได้เป็นการขออนุมัติกรอบวงเงินใหม่ แต่เป็นงบประมาณเดิมจากการอนุมัติช่วยเหลือข้าวนาปี 2567/68 ซึ่งยังคงมีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาช่วยเหลือชาวนาสำหรับข้าวนาปรัง โดยชาวนาที่เข้าร่วมจะต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเปิดให้ขึ้นทะเบียนจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 นี้ เพราะจะจ่ายให้ชาวนาที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น
“มตินี้อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่อทำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่า ครม.สัปดาห์อาจจะไม่ทัน แต่กรมจะเร่งให้เร็ว”
สำหรับข้อมูลล่าสุดมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้ว 2.3 แสนราย จำนวน 4 ล้านไร่ จากที่มีการประเมินว่าจะมีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 3.2 แสนราย จำนวน 5.5 ล้านไร่ สำหรับมาตรการอื่น ๆ ที่คณะอนุกรรมการ นบข.ด้านการตลาดได้เคยพิจารณาไว้ เช่น การให้สินเชื่อชะลอขาย การฝากเก็บข้าวในยุ้งฉาง และการชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้นั้น ไม่ผ่านมาที่ประชุม นบข.
เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากข้าวนาปรังต่างจากข้าวนาปี เกรงว่าเมื่อเกษตรกรนำมาฝากในยุ้งฉางแล้วจะไม่ไถ่ถอนคืน อาจเป็นภาระงบประมาณของรัฐในอนาคตได้