
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
การพบกันระหว่างซีอีโอของ DKSH และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้ DKSH บริษัทสัญชาติสวิส ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ระดับโลก ไม่รีรอที่จะขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ในพื้นที่ของโครงการ “แลนด์บริดจ์” แม้จะไม่ใช่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
แต่ “นายเดเมียน โมโฮท์” รองประธานฝ่ายบริหาร หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ประเทศไทยและลาว และหัวหน้าคณะบริหาร ประจำประเทศไทย บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลไทย ในการร่วมผลักดันให้ไทยไปสู่การเป็นฮับในภูมิภาค (Regional Hub)
ปักฐานลงทุนไทยยาว 120 ปี
เราเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449 ซึ่งจะครบรอบ 120 ปีในปี 2569 หน้าที่ของเรา คือ ช่วยลูกค้าให้สามารถเข้าถึงตลาด ตั้งแต่ระดับ A2A ตั้งแต่การทำอินไซต์ การหาตลาด การเข้าตลาด การวางจำหน่าย ซึ่งปัจจุบัน DKSH มีทั้งหมด 4 หน่วยธุรกิจ คือ 1.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายตามเซเว่นฯ 2.หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Healthcare) อย่างยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่วัคซีน
3.หน่วยธุรกิจวัตถุดิบอุตสาหกรรม (Performance Materials) เช่น วัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์เฉพาะทาง วัตถุดิบสำหรับยาและเวชภัณฑ์ 4.หน่วยธุรกิจเทคโนโลยี (Technology) อย่างพวกโซลูชั่นทางวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการให้บริการ รวมไปถึงอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ เราจะยังไม่ลงทุนเอง แต่เราพร้อมที่จะช่วยดึงลูกค้าเข้ามา พร้อมสนับสนุนลูกค้าที่จะมาลงทุนเซมิคอนดักเตอร์
สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าเป็นฐานที่ใหญ่ที่สุดของ DKSH กรุ๊ป โดยธุรกิจในไทยมีสัดส่วนรายได้ 25-30% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งปี 2567 ทั้งกรุ๊ปมีรายได้อยู่ที่ 11.1 พันล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 440,000 ล้านบาท) สินค้าที่เราดูแลอยู่ตอนนี้มีจำนวนมาก ครอบคลุมตั้งแต่นมผง ซอส อุปกรณ์ดูแลส่วนบุคคล ซึ่งหากเข้าไปในแม็คโคร โลตัส ไปทางไหนก็จะเห็นสินค้าที่ DKSH จัดจำหน่าย
ลดขั้นตอนเอื้อธุรกิจเฮลท์แคร์
DKSH ทำหน้าที่เป็นซัพพลายเชนที่มีขนาดใหญ่ มีเครือข่ายจำนวนมาก แน่นอนว่าเรามีความพร้อมที่จะเป็นพาร์ตเนอร์ สนับสนุนไทยไปสู่การเป็น Regional Hub แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่เรามีเครือข่ายในการสนับสนุนและกระจายสินค้า ช่วยเรื่องการเข้าถึงของสินค้า ซึ่งเรามั่นใจว่าจะสามารถส่งเสริมสนับสนุนรัฐบาลได้
ในช่วงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้พบกับ CEO DKSH ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการประชุม World Economic Forum เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ คือ ต้องการให้มีการจัดการการเข้าถึงในเรื่องของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ เราได้เล่าถึงสิ่งที่ DKSH ดำเนินการในไทย ปัจจุบันเรามีพนักงานมากกว่า 7,000 คน เป็นบริษัทสวิสที่ใหญ่ที่สุดในไทย
หากดูหน่วยธุรกิจเราค่อนข้างใหญ่ในส่วนของคอนซูเมอร์และเฮลท์แคร์ ซึ่งทาง DKSH ได้พูดคุยถึงประเด็นเรื่องการดำเนินการในส่วนของการจดทะเบียนยา และสินค้าที่เป็นเฮลท์แคร์ที่อยากให้มีขั้นตอนที่สั้นขึ้น เพราะในส่วนของต่างประเทศนั้นใช้เวลาน้อย แต่ไทยยังใช้เวลานาน ซึ่งนายกฯก็ให้ความสนใจมาก
ชี้แลนด์บริดจ์ช่วยกระจายสินค้า
นอกจากนี้ มีการพูดคุยเรื่องโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งไม่ใช่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างถนนอะไรต่าง ๆ แต่จะเป็นเรื่องที่เราใช้บริการ เพราะ DKSH ทำหน้าที่ขนส่ง กระจายสินค้า ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ดีมาก ทำให้การกระจายสินค้าค่อนข้างง่ายเพราะเราอยู่ในธุรกิจที่ต้องกระจายสินค้า เราเห็นว่าไทยเป็น Hub ที่สำคัญ มีโครงสร้างพื้นฐานครบและพร้อม ทำธุรกิจง่าย เป็นส่วนผลักดันให้ DKSH ในไทยใหญ่ที่สุดนั่นเอง
สำหรับแผนสำรอง หากแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นช้ากว่าที่คาด ซึ่งเราเองการทำตลาดในประเทศไทย อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงการนี้ 100% เราสร้างเครือข่ายมาครบ เรามีศูนย์แยกและกระจายสินค้า (DC) ถึง 11 แห่ง เราสร้างมาตลอด 120 ปี
ดังนั้นโครงการนี้อาจไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ แต่เราก็พร้อมที่จะสนับสนุน ถ้าแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น จะมีผลดีในการผลักดันให้ไทยขึ้นเป็น Regional Hub ไม่ใช่แค่ในเอเชีย แต่จะเป็นฮับของเอเชีย-แปซิฟิกของเอเชียตะวันออกกลาง ทำให้ไทยพร้อมมากขึ้นในการแข่งขันและเป็น Hub ที่ใหญ่ขึ้นแน่นอน
ไทยยังหอมดึงนักลงทุนย้ายฐาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยถือเป็นฮับของอินโดจีน หรือ CLMV ซึ่งอาจต้องใช้เวลาที่จะก้าวไปสู่การเป็น Regional Hub แต่ถ้าเทียบกับลาว มาเลเซีย มีลูกค้าสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิต บางรายอย่างโอ๊ตมิลล์ย้ายฐานจากอินโดนีเซียมาไทย นั่นหมายความว่าไทยมันยังมีความน่าสนใจ น่าลงทุน ดึงดูดให้ย้ายฐานมาไทย ส่วนการลงทุนใหม่ ๆ ก็มีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เริ่มเข้ามาสร้างโรงงาน ด้วยปัจจัยเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี บวกกับโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย ดึงให้นักลงทุนอยากมาลงทุนมากขึ้น อีกทั้งปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ผลักดันการใช้จ่ายในประเทศ ทำให้ไทยมีความน่าสนใจลงทุน
นอกจากนี้ ที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีไทย คือ เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่ง DKSH ผลักดันเรื่องความยั่งยืน แต่ยังมีข้อจำกัดของสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีน้อย และไม่สะดวก ตอนนี้เรามีรถขนส่ง EV 30 คัน และจักรยานยนต์อีก 10 คัน ที่เริ่มใช้ EV เรามีเครือข่ายที่ต้องขนส่งสินค้าเหนือจดใต้ สถานีชาร์จต้องเพียงพอ
ทรัมป์แค่ทำ ศก.สั่นเล็กน้อย
ส่วนเรื่องการขึ้นภาษีตอบโต้การค้าของทรัมป์ 2.0 นั้น เราไม่ได้มองว่าเป็นวิกฤต มันแค่การสั่นสะเทือนเล็กน้อย เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต ดูจากจำนวนนักท่องเที่ยว ตัวเลขการบริโภคยังเติบโตเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามองว่าการลงทุนและการทำงานในไทยยังเป็นบวก DKSH มีพอร์ตสินค้าในมือเยอะมาก อาจมีสินค้าบางรายการที่ดรอปไป แต่ในบางรายการ เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเฮลท์แคร์และสินค้าอุปโภคบริโภค มีการเติบโตสูงถึง 2 หลัก ซึ่ง DKSH ก็มีแผนจะนำสินค้าใหม่ ๆ อย่างนมโอ๊ต นมอัลมอนด์ หรือสินค้าจากพืชแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ (Plant Based) ซึ่งได้รับความสนใจมาก
เรามีหน้าที่สนับสนุนให้ลูกค้าผลิตสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภค ทำตลาดให้ พร้อมรายงานสถิติเพื่อให้เห็นเทรนด์ของผู้บริโภค ซึ่งลูกค้าของเรามีตั้งแต่ระดับใหญ่ ยอดขาย 6,000-7,000 ล้านบาท ไปจนถึงรายเล็ก ๆ เอสเอ็มอี ยอดขาย 30 ล้านบาท ช่วยจัดจำหน่าย รวมถึงช่วยเรื่องส่งออกในแถบเอเชียที่เรามีเครือข่ายอยู่