ชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออก ประสานเสียงไม่เอา “พ.ร.บ.ข้าว”

รายงาน

หลังจาก นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยที่มาที่ไปในการยกร่าง “พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ….” ที่กำลังอยู่ในขั้นการพิจารณาของ สนช.ว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยชาวนารอดพ้นจากการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้ากดราคารับซื้อข้าวเปลือก จนเป็นเหตุให้ชาวนามีรายได้น้อย ขาดแรงจูงใจ ไม่มีชาวนารุ่นใหม่ ๆ กล้าจะเข้าสู่อาชีพนี้ และอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว

เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีกลไกที่จะเข้าไปช่วยควบคุมการผลิต และจำหน่ายข้าวอย่างเป็นระบบ สร้างความเป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้รับซื้อ โดยมีคณะกรรมการข้าว (คกข.) ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนเข้าไปร่วมกันกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพทั้งห่วงโซ่การผลิต การตลาดและการส่งออก ทำให้เกิดความสมดุล สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยสรุป ประกอบด้วย 3 หมวด 39 มาตรา คือ หมวด 1 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยคณะกรรมการข้าว (คกข.) ซึ่งจะมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลข้าวทั้งระบบ คล้ายกับคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ปัจจุบัน ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องสำนักงานกรรมการข้าว ซึ่งจะตั้งเป็นหน่วยงานเอกเทศ โดยมีอธิบดีกรมการข้าว ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสำนัก ส่วนที่ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

หมวด 2 ส่วนที่ 1 การจดทะเบียนและการขึ้นทะเบียนทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบกับ คกข. ส่วนที่ 2 การกำกับดูแล โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำเขตศักยภาพในการผลิตข้าว กระทรวงพาณิชย์ดูแลด้านการตลาด การส่งออก การกำหนดราคาแนะนำรับซื้อ การลักลอบนำเข้า

และหมวดที่ 3 บทกำหนดโทษ ซึ่งกำหนดโทษผู้กระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ชาวนาโวยไม่เอา พ.ร.บ.

มุมมองของ “นายสุเทพ คงมาก” นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สมาคมชาวนาที่มีอยู่ในประเทศไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ทางสมาคมจะทำหนังสือคัดค้านเสนอต่อประธานคณะกรรมาธิการด้านเกษตร และประธานรัฐสภา เพราะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่แรก เนื่องจากการยกร่างกฎหมายของ สนช.เป็นความลับ ไม่มีการขอความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ทั้งชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก แต่มีการลักไก่ขอความเห็นโดยอาศัยเวทีการประชุมของกรมการข้าว ซึ่งจัดประชุมเรื่องศูนย์ข้าวชุมชน และนาแปลงใหญ่ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2561 โดยมีการบรรยายสรุปและขอให้ทุกคนยกมือสนับสนุน เท่ากับว่าไม่ใช่เป็นการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

ประกอบกับการกำกับดูแลข้าวของไทยปัจจุบันมี นบข. เป็นคณะกรรมการหลักที่สามารถกำหนดนโยบายบริหารจัดการข้าวได้ และยังมี “คณะกรรมการข้าวครบวงจร” ซึ่งช่วยให้ชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากได้ 3 ปีแล้ว และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมอยู่แล้ว หากมีกฎหมายนี้ก็เท่ากับต้องไปยุบกฎหมายอื่น ซึ่งตนยังมองไม่ออกว่า วิธีการกำกับดูแลตามกฎหมายใหม่นี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรได้อย่างไร

โรงสีขยาดรับซื้อ

ด้านผู้ประกอบการกลางน้ำ “โรงสี” ก็มีมุมมองไม่ต่างจากชาวนา โดย “นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ทำหนังสือ 3 ฉบับ ถึงอธิบดีกรมการข้าว, เลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า กฎหมายนี้ยังไม่ครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ หากนำมาบังคับใช้จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อระบบการค้าข้าวทั้งวงจร

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นมากำกับดูแลการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโรงสีและชาวนา กำหนดว่าต้องมี “ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก” เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความชื้นข้าวเปลือก จากที่ผ่านมาในธุรกิจข้าวไม่เคยมีใครสามารถกำหนดเรื่องนี้ได้ และที่สำคัญ ระบบการค้าข้าวในปัจจุบันมีกฎหมาย พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2489 กำกับดูแลทั้งการกำหนดราคาข้าว และสั่งห้ามมิให้ขายเกินราคา การกำหนดให้แจ้งปริมาณและสถานที่จัดเก็บ และการครอบครองอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการโรงสีต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน และกรมโรงงานฯเพื่อขอใบอนุญาต และมีกระบวนการและขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญและทักษะเฉพาะ แต่หากกฎหมายใหม่เพิ่มขั้นตอน “การตรวจสอบข้าวเปลือก” จะกลายเป็นอุปสรรคและสร้างภาระค่าใช้จ่าย และไทยไม่เคยมีผู้ตรวจสอบข้าวเปลือกมาก่อน

ส่วนการกำหนดราคาผลผลิต โดยปกติได้กำหนดตามชนิดข้าว และค่าความชื้นของข้าวในแต่ละระดับ เพื่อประโยชน์ในการรับซื้ออยู่แล้ว ที่สำคัญ “ราคารับซื้อ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ แต่ขึ้นอยู่กับข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายว่ามีคุณภาพมากเพียงใด ธุรกิจโรงสีในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่ากำลังการผลิตข้าว จึงมีการแข่งขันสูง ไม่สามารถจะกดราคารับซื้อได้ อีกทั้งภาครัฐสามารถเข้ามาบริหาร กำหนด ควบคุม และรับรู้คุณภาพผลผลิตข้าวเปลือกของชาวนาได้ไม่ยาก เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนชาวนาอยู่แล้ว น่าจะสามารถบริหารจัดการจุดนี้ได้ ใน พ.ร.บ.ค้าข้าวเดิมก็มีกฎหมายลูก/ประกาศของกฎกระทรวงดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว

ต่อประเด็นการให้อำนาจ “คกข.” ในการสั่งให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำภายในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่ในนา เคหสถาน ยานพาหนะ โรงงาน โรงสี สถานที่เก็บข้าวเปลือก กรณีที่มีเหตุให้เชื่อว่าฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษกับผู้รับซื้อหรือผู้ประกอบการถึงขั้นโทษจำคุกและปรับนั้น อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ หากหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลไม่มีความเข้าใจในระบบการค้าข้าวอย่างถ่องแท้บังคับใช้กฎหมาย อาจจะทำให้โรงสีหรือผู้ซื้อข้าวเปลือกไม่กล้าที่จะซื้อข้าวเปลือกที่ดูแล้วว่าคุณภาพอาจจะไม่เข้าเกณฑ์ หรือตกเกรด ซึ่งจะส่งผลเสียส่วนใหญ่ต่อเกษตรกรโดยตรง

ส่งออกหวั่นทุจริต

“ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า สมาคมเพิ่งจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการยกร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยเท่าที่ศึกษาสาระสำคัญในกฎหมายไม่ได้มีเนื้อหาที่จะมากำกับดูแลทางผู้ส่งออกข้าวมากนัก แต่เน้นไปที่การกำกับดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการกำกับในกฎหมายใหม่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าข้าวในปัจจุบันมากนัก

เช่น การกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานความชื้น ซึ่งไม่เคยมีหน่วยงานใดกำหนดมาตรฐานข้าวเปลือกออกมา เพราะทางปฏิบัติ ชาวนามักจะเกี่ยวสดและส่งเข้าโรงสีเลย ซึ่งโรงสีก็จะรับซื้อโดยกำหนดราคาตามระดับความชื้นเป็นปกติอยู่แล้ว และด้วยจำนวนโรงสีในประเทศไทยที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี สูงกว่ากำลังการผลิตข้าวเปลือก 30 ล้านตันต่อปี ทำให้โรงสีมีการแข่งขันสูง ซึ่งทำให้ชาวนาได้ประโยชน์อยู่แล้ว

“หากรัฐบาลจะเข้าไปกำกับดูแลการรับซื้อข้าวเปลือกตามระดับความชื้นอย่างนี้จะส่งผลทางปฏิบัติแน่นอน เพราะโดยปกติผลผลิตข้าวนาปีจะทะลักออกสู่ตลาดพร้อมกัน คราวละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตันข้าวเปลือก ถ้าจะกำกับดูแล ต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปประจำจุดรับซื้อ ซึ่งมีจำนวนมาก หรือหากให้มีบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกก็จะกลายเป็นต้นทุนของชาวนา ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบไม่ต่ำกว่าตันละ 20 บาท และประเทศไทยไม่เคยมีเซอร์เวเยอร์ข้าวเปลือกมาก่อน หากรัฐกำหนดให้มีขั้นตอนนี้ก็อาจจะกลายเป็นช่องทางที่นำไปสู่การทุจริตในอนาคต”

จากมุมมองของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่การผลิตสะท้อนว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. เป็นกฎหมายที่ไม่สอดรับกับบริบทการค้าข้าวในปัจจุบัน และนำไปสู่อุปสรรคการค้าข้าวในอนาคต เสี่ยงต่อการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์จากขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นจุดโหว่ ดังนั้นหากภาครัฐมีเจตนารมณ์ที่ดีที่จะมุ่งส่งเสริมธุรกิจข้าวทั้งระบบก็ควรทบทวนการยกร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย