หงษ์ทองรุกทำ “นาหยอด” ตั้งเป้าถึง1แสนไร่ในปี”63

“หงษ์ทอง” ตั้งเป้าต่อยอดโครงการนาหยอดทะลุ 1 แสนไร่ในปี”63 หวังเพิ่มผลผลิตคุณภาพ รองรับตลาดส่งออกทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ แถมช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนไร่ละ 500 บาท สร้างรายได้เพิ่ม

นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวหงษ์ทอง กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินโครงการหงษ์ทองนาหยอดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วกว่า 37,000 ไร่ คาดว่าในปี 2561 จะมีเกษตรกรเข้าร่วมเพิ่มเป็น 40,000 ไร่ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี บริษัทมีเป้าหมายดึงเกษตรกรเข้าร่วมโครงการให้ได้ 100,000 ไร่ ภายในปี 2563 เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดและการขยายตัวของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดข้าวหอมมะลิในต่างประเทศทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ และตลาดอื่นที่ยังขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข กล่าวคือ จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิของบริษัท 100% ซึ่งเมล็ดพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 และ กข 15 ที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากผลผลิตออก ทางบริษัทจะรับซื้อทั้งหมด โดยให้ราคาเพิ่ม ส่วนเกษตรกรที่ต้องการขายไปยังช่องทางอื่นก็สามารถทำได้ไม่ได้จำกัดการขายของเกษตรกร

“การดำเนินการรูปแบบดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพข้าวได้ โดยต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพและพันธุ์ข้าวดีไม่ปลอมปน ซึ่งอดีตประเทศไทยมีปัญหาเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ขณะที่เกษตรกรจะได้รับการอบรมการทำนาหยอด การทำบัญชี และช่วยเหลือด้านสินเชื่อ การทำนารูปแบบนี้จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่ม ลดต้นทุนการปลูก มีรายได้เพิ่ม เช่น เดิมเกษตรกรปลูกข้าวโดยการหว่านใช้เมล็ดพันธุ์ 25-35 กิโลกรัมต่อไร่ แต่การหยอดข้าวใช้เมล็ดพันธุ์ลดลงเหลือ 8-10 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนลดลงจาก 3,060 บาท เหลือ 2,575 บาทต่อไร่ ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 451 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 559 กิโลกรัมต่อไร่”

นายวัลลภกล่าวว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานภาครัฐที่สนใจนำรูปแบบโครงการลักษณะนี้ไปใช้ส่งเสริมเกษตรกรโดยขยายต่อในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้ง ปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทจะเดินหน้าจัดทำโครงการนี้เฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้บริษัท จึงสะดวกต่อการดูแลการผลิตและการขนส่ง และยังเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิดีและมีคุณภาพ แม้จะขยายเป้าหมายพื้นที่ของโครงการเป็น 100,000 ไร่ ก็ยังจะใช้เฉพาะพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับผลผลิตข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู บริษัทจะจัดแพ็กเกจรุ่นพิเศษออกมาจำหน่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพความหอม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี