ข้าวหอมมะลิปรับขึ้น เฉลี่ย 13,000 บาทต่อตัน ปีทองเกษตรกรขายได้ราคา แนะทยอยเก็บเกี่ยว

ข้าวหอมมะลิปรับขึ้น เฉลี่ย 13,000 บาทต่อตัน ช่วงปีทองของเกษตรกรขายได้ราคา แนะให้ทยอยเก็บเกี่ยวและชะลอไม่ให้ข้าวออกพร้อมกันเพื่อราคาให้ปรับสูงขึ้น เผยจากปัจจัยจากภัยแล้งข้าวออกน้อย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวระหว่างการนำคณะผู้ส่งออกลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อติดตามผลผลิตข้าวนาปี 2561/62 และข้าวหอมมะลิ ในวันที่ 25-27 ตุลาคม 2561 ว่า จากการที่ติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวในครั้งนี้พบว่าหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การเก็บเกี่ยวก็ล่าช้ากว่าปกติ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในช่วงนี้ออกมาน้อย และค่อยๆทยอยออกมาสู่ตลาด ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิราคาเฉลี่ย 13,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นปีทองของเกษตรกรที่จะขายข้าวได้ราคา ดังนั้น จึงต้องการให้เกษตรกรชะลอและทยอยเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ข้าวออกมาพร้อมมากกันเกินไป ซึ่งจะทำให้โรงสี ผู้ส่งออกรับซื้อไม่ไหวและจะมีผลกระทบต่อราคาข้าว ลดลง

“การเก็บเกี่ยวข้าวในปัจจุบันรวดเร็วมากขึ้น เพราะเกษตรกรใข้รถเกี่ยวมาช่วยเก็บเกี่ยวข้าวทำให้ผลผลิตออกมาพร้อมกันมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ซึ่งต่างจากอดีตมากที่กว่าจะเก็บเกี่ยวได้แต่ละครั้งต้องใช้เวลา และนอกจากนี้ประเมินว่าข้าวเปลือกหอมมะลิในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 ล้านตันและจะแบ่งขายในประเทศและต่างประเทศ และหากเกษตรกร ทยอยเก็บเกี่ยว และเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉาง ค่อยๆทยอยออกสู่ตลาด เชื่อว่าในอีก 3 เดือนราคาก็จะปรับเพิ่มขึ้นก็จะทำให้เกษตรกรขายได้ราคา”

สำหรับสถารการณ์ภัยแล้งที่หลายพื้นที่ภาคอีสานประสบปัญหานั้น เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผลผลิตที่ออกมานั้นจะอยู่ในปริมาณเท่าไร เนื่องจากต้องรอหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเป็นผู้ประเมินและชี้แจงตัวเลขให้รับทราบ แต่จากการสำรวจและลงพื้นที่ติดตามผลผลิตข้าวนาปี ข้าวหอมมะลิในภาคอีสาน คาดว่าผลผลิตข้าวนาปี จะมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าลดลงแต่ไม่มากเพราะพื้นที่ภัยแล้งไม่ได้กระจายทุกพื้นที่ แต่ได้รับผลกระทบบางพื้นที่เท่านั้นโดยเฉพาะพื้นที่ดอนที่จะเห็นภาพชัดเจน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ข้าวหอมมะลิทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกยังได้มอบตาข่ายสำหรับตากข้าวให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำไปใช้เพื่อตากข้าวในการลดความชื้น เพราะหาความชื้นยิ่งน้อย ราคาข้าวที่เกษตรกร ก็จะยิ่งขายได้ราคา รวมไปถึงสนับสนุนโครงการของภาครัฐในโครงการจำนำยุ้งฉาง อีกทั้ง ก็ยังติดตามการพัฒนาพันธุ์ข้าวในพื้นที่อีกด้วย เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้คุณภาพและความหอมของข้าวหอมมะลิไทยลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดและผู้นำเข้าซึ่งชื่นชอบข้าวหอมมะลิไทย ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรช่วยกันรักษาคุณภาพข้าวกัน