“ปศุสัตว์”ชงข้อมูลสารเร่งเนื้อแดงก่อน”บิ๊กตู่” เยือนสหรัฐ

กรมปศุสัตว์เตรียมชงข้อมูลวิชาการ “สารเร่งเนื้อแดงในหมู” ให้นายกฯประยุทธ์ก่อนบินไปอเมริกา ต.ค.นี้ รับมือหากประธานาธิบดี “ทรัมป์” หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นบีบไทยเปิดนำเข้า ฟากผู้เลี้ยงชี้หากเปิดนำเข้าเกษตรกรเดือดร้อนกันเป็นลูกโซ่ถ้วนหน้า ทั้งชาวนา-ชาวไร่ ข้าวโพด-มันสำปะหลัง

นสพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อาจหยิบยกเรื่องการส่งออกชิ้นส่วนสุกรที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาในไทยในช่วงระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม 2560 ว่ากรมปศุสัตว์มีหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยต่าง ๆ ในการใช้สารเร่งเนื้อแดงเลี้ยงสุกรว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใดไว้รองรับ แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการเจรจา โดยการเจรจาเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเท่าที่ทราบยังไม่มีประเด็นเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้เลี้ยงหมูไทยได้ยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าหมูของสหรัฐต่อ พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง ทางกลุ่มผู้เลี้ยงคงเกรงว่าหากทางประธานาธิบดีสหรัฐหยิบยกเรื่องขึ้นมาขอให้นายกรัฐมนตรีไทยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งจึงต้องยื่นหนังสือคัดค้านไว้ก่อน ซึ่งกรมปศุสัตว์พร้อมเตรียมข้อมูลให้ไปชี้แจง

“ประเทศไทยห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ในการเลี้ยงหมู โดยมีกฎหมาย 3 ฉบับที่ควบคุม ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ของกระทรวงสาธารณสุขที่ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ แม้ว่าบางประเทศจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่มีมติให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง คือ แรกโตพามีน (Ractopamine) ได้ตามเกณฑ์กำหนดค่าสูงสุดว่าไม่เกินเท่าไหร่ไว้ในการเลี้ยงหมู อย่างไรก็ตาม หากถึงที่สุดทางสหรัฐอเมริกามีการต่อรองขอส่งออกชิ้นส่วนหมูที่ไม่มีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนเข้ามาขายในไทย ก็คงต้องเจรจากันในเงื่อนไขใหม่และวางขายต่างหาก ที่สำคัญต้องไม่นำมาปะปนขายรวมกับหมูไทย” นสพ.สรวิศกล่าว

หวั่นอนาคต – จากการที่สหรัฐฯ ล็อบบี้รัฐบาลไทยหลายครั้งในการเปิดนำเข้าชิ้นส่วนหมูทำให้ระยะหลังผู้เลี้ยงหมูของไทยไม่กล้าขยายการเลี้ยงหมู

ทางด้านนายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องนี้ฝ่ายสหรัฐเคยหยิบยกมาหารือกับไทยหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศต้องยื่นหนังสือคัดค้านการนำเข้าที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว ในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปหารือกับกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จึงเกรงว่าฝ่ายสหรัฐอาจหยิบเรื่องนี้มาให้ฝ่ายไทยพิจารณาเรื่องการนำเข้าอีก ซึ่งหากนำเข้ามาจริง ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจะมีมากมาย ตั้งแต่ผู้เลี้ยงหมูในประเทศที่ผลิตหมูขุนป้อนตลาดทั่วประเทศวันละประมาณ 4.4-4.5 หมื่นตัว รวมไปถึงผู้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว ปลายข้าว รำข้าว ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาจะตกต่ำตามมา เหมือนเวียดนามช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาหมูเป็นตกต่ำเหลือ กก.ละ 25-30 บาท ขาดทุนและเลิกเลี้ยงไปกันมาก

“สหรัฐเป็นผู้เลี้ยงหมูอันดับ 1 ของโลก มีต้นทุนการเลี้ยงหมูเพียง กก.ละ 1 เหรียญสหรัฐ หากสหรัฐดัมพ์ชิ้นส่วนหมูในส่วนของหัว ขา และเครื่องใน เกือบ 20 กก./ตัว เข้ามาในปริมาณไม่มาก ก็แย่แล้ว เหมือนฟิลิปปินส์ เวียดนาม เจออยู่ในขณะนี้ ราคาหมูไทยที่มีต้นทุนเลี้ยงสูง กก.ละ 58 บาท จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งในไทยมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อย-รายกลางถึง 75% จะขาดทุนหนักและเลิกเลี้ยงหมดอาชีพอย่างแน่นอน”

ในส่วนสถานการณ์หมูไทยในขณะนี้ ปริมาณการเลี้ยงกับการบริโภคเริ่มสมดุล จากราคาหมูเป็นทรุดลงเหลือ กก.ละ 54 บาทช่วงก่อนหน้านี้ ขยับขึ้นเป็น กก.ละ 58-60 บาทแล้ว เพราะกลุ่มผู้เลี้ยงทุกภาคเริ่มหารือในการแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง รวมทั้งเชิญผู้เลี้ยงรายใหญ่ 10 กว่าบริษัทมาหารือ โดยนำหมูในพื้นที่ที่ล้นตลาดไปช่วยขายในพื้นที่ขาดและร่วมกันขายในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยง ทำให้สถานการณ์ราคาดีขึ้น

“ปริมาณการเลี้ยงกับการบริโภคที่สมดุล เพราะในหลายพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงยังมีปัญหาโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Porcine Epidermic Diarrhea (PED virus) ทำให้แม่หมูท้องเสีย นมแห้งตามมา เมื่อลูกที่คลอดออกมาไม่ได้กินนมแม่ 3-4 วันที่ท้องเสียก็ตาย การแก้ปัญหาเอาหมูในพื้นที่ล้นไปโปะพื้นที่ขาด จะทำให้ผู้เลี้ยงที่ขาดแคลนไม่เพิ่มแม่พันธุ์ที่จะก่อให้เกิดหมูล้นตามมา ส่วนราคาขายหมูชำแหละหน้าเขียงในตลาดสด ปัจจุบันเขียงขายหมูเนื้อแดง กก.ละ 130-140 บาท ซึ่งควรจะขายสูงกว่าราคาหมูเป็น 2 เท่า หรือเพียง กก.ละ 120 บาท”