เอกชนหนุนฟื้นตลาดข้าวอิรัก ทูตพาณิชย์ประสานคต.นัดคิวเจรจา GtoG

“เอกชน” ตีปีกหนุนจุรินทร์ฟื้นตลาดข้าวอิรัก “ข้าวไชยพร-เอเซียฯ-ธนสรรไรซ์” ลุ้นคว้าออร์เดอร์ครึ่งปีหลังคืน พลิกเกมดันยอดส่งออกข้าวทะลุเป้า 9 ล้านตัน “ทูตพาณิชย์” ชี้รัฐบาลอิรักพร้อมเจรจาจีทูจี เบื้องต้นผู้ส่งออกต้องได้รับการรับรองจากรัฐ 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ช่วงครึ่งปีแรกไทยส่งออกข้าวได้เพียง 4.3 ล้านตัน ลดลง 19.6% ผลพวงจากค่าบาทแข็งกระทบทั้งเจ้าตลาดส่งออกเดิมอย่างเอเซีย โกลเด้นไรซ์ นครหลวงค้าข้าว ธนสรรไรซ์ แสงฟ้าอะกริเทรดดิ้ง รวมถึงผู้ส่งออกน้องใหม่ที่ผันตัวจากโรงสี เช่น โอเรียนทัล โปรดิวซ์ กล้าทิพย์ กำแพงเพชรเอ็กซ์ปอร์ต ชิงตั๊ก อเมริเทค ต่างชะลอตัวไปตามกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมหารือกับที่ปรึกษา (นายวิจักร วิเศษน้อย) และสมาคมผู้ส่งออกข้าว เพื่อประเมินสถานการณ์ และหาแนวทางผลักดันยอดส่งออกข้าวให้ถึงเป้าหมายที่สมาคม วางไว้ 9 ล้านตัน ด้วยการพลิกฟื้นตลาดอิรัก ที่ประสบปัญหาเมื่อปี 2555-2556 จากกรณีผู้ส่งออกรายหนึ่ง (สยามอินดิก้า) รับทำข้าวส่งมอบให้รัฐบาลต่อรัฐบาลอิรักแล้วส่งข้าวผิดมาตรฐาน ส่งผลให้อิรักไม่มั่นใจในคุณภาพข้าวไทย จึงหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น ไทยจึงสูญเสียตลาดข้าวขาวคุณภาพสูงปีละ 7-8 แสนตัน

นายเสริมศักดิ์ ควรทรงธรรม อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการ บริษัท ข้าวไชยพร จำกัด ในฐานะเจ้าตลาดข้าวอิรัก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในแต่ละปีตลาดนี้มีต้องการนำเข้าข้าวจากทั่วโลกถึงปีละ 1 ล้านตัน แต่หลังจากเหตุการณ์เมื่อปี 2556 ก็ลดการนำเข้าข้าวจากไทย ทำให้เสียตลาดข้าวคุณภาพสูง ทั้งนี้ ปัจจุบันอิรักเปลี่ยนรูปให้เอกชนนำเข้า จากเดิมนำเข้าโดยการประมูลของรัฐ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกอิรักนำเข้าข้าวขาว 100% จากไทย 40,000-50,000 ตัน จากอดีตที่เคยนำเข้าจากไทยปีละ 700,000-800,000 ตัน

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญสมาคม และบริษัทเข้าไปหารือถึงสถานการณ์ตลาด เราก็สนับสนุนให้รัฐนำคณะไปกระชับความสัมพันธ์สร้างความมั่นใจ เปิดตลาดในรูปแบบจีทูจีก็ได้ เพราะเดิมอิรักจะนำเข้าแบบประมูลโดยรัฐ หรือเกรนบอร์ด แต่ช่วงหลังมานี้เปิดให้เอกชนนำเข้าได้ด้วย เราคาดว่าก่อนสิ้นปีนี้จะมีประมูลอีก”

นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า หลังจากที่เกิดปัญหาในตลาดอิรักจากผู้ส่งออกรายหนึ่ง ทางบริษัทจึงปรับแผนไปส่งออกตลาดอื่น เช่น แอฟริกา และเอเชียแทน และลดกำลังการผลิตลง โดยช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ส่งออกได้ 100,000 ตัน คาดว่าทั้งปีจะทำได้ 200,000-300,000 ตัน จากเดิมที่เคยส่งออกได้ปีละ 4-5 แสนตัน

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด เปิดเผยว่า เป็นไปได้ที่ภาครัฐจะฟื้นตลาดอิรัก โดยรัฐบาลควรเดินทางไปอิรัก เพื่อสร้างความมั่นใจในการสั่งซื้อ ซึ่งเท่าที่ทราบภาครัฐมีประสานผ่านสมาคมแล้ว

“หากไทยสามารถฟื้นตลาดนี้ได้ จะช่วยกระตุ้นยอดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังให้ฟื้นกลับมา จากครึ่งปีแรกบาทแข็งสวนทางกับค่าเงินประเทศคู่แข่งอื่นที่อ่อน แข่งขันยาก ยอดส่งออกของเอเซียฯก็ปรับลดลงเหลือสัดส่วน 13-14% ของยอดส่งข้าวภาพรวมจากเดิมที่เคยทำได้ 16-17% ต่ำมากในรอบหลายปี”

ขณะที่ผู้ส่งออกรายใหม่ก็ให้ความสนใจตลาดอิรักเช่นกัน โดยนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การฟื้นตลาดอิรักเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะช่วงที่บริษัทก้าวเข้ามาทำตลาดส่งออกนับจากปี 2558-2561 อิรักมีการประมูลนำเข้าข้าวนับ 10 ครั้ง ทางเราเคยส่งร่วมประมูลกับเทรดเดอร์ และทราบว่าผู้ส่งออกไทยชนะประมูลไป 4-5 ครั้ง แต่อิรักเลือกไม่นำเข้าจากไทยแล้วหันไปนำเข้าจากสหรัฐ อุรุกวัย และอินเดียแทน เป็นผลจากที่อิรักไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพข้าวไทย

“ผู้ส่งออกหวังว่าทางท่านรองนายกรัฐมนตรีจะนำคณะไปกระชับความสัมพันธ์สร้างความมั่นใจในตลาดอิรัก และชิงส่วนแบ่งตลาดมาให้ได้ เพราะแต่ละปีอิรักต้องการนำเข้า 3-4 แสนตัน ทั้งยังเป็นตลาดที่ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน หากทำสำเร็จจะช่วยผู้ส่งออกจากผลกระทบค่าบาทครึ่งปีแรกทำให้ส่งออกลดลงมาก”

ด้านนายปณต บุณยะโหตระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า ขณะนี้อิรักตอบรับเปิดเจรจาซื้อขายข้าวกับประเทศไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) อยู่ระหว่างประสานเข้าไปเจรจาซื้อขายในเบื้องต้น ก่อนที่จะลงนามความร่วมมือกัน

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจด้านคุณภาพข้าว เบื้องต้นผู้ส่งออกข้าวไปเข้าอิรักต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ หรือสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

“หากสามารถเจรจาได้จะสามารถขยายตลาดส่งออกข้าวได้มากขึ้น เพราะในอดีตอิรักนำเข้าข้าวไทยปีละ 8 แสนตัน แต่ปัจจุบันส่งออกไปไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจข้าวไทย”