รับน้องโครงการประกันยาง พ่อค้าทุบราคารัฐจ่ายอ่วม

รับน้องโครงการประกันยางพารา เกษตรกรตั้งข้อสังเกตมีกระบวนการไล่ทุบราคายางในประเทศตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมจนราคาน้ำยางสดเหลือ 3 โล 100 ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 ร่วงเหลือ กก.ละ 38 บาท ต่ำสุดในรอบ 17 ปี หวั่นรัฐบาลควักกระเป๋าจ่ายเงินชดเชยอ่วม

รัฐบาลเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรตามที่ได้หาเสียงไว้แล้วโดยเริ่มจาก โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันปี 2562-2563 และได้ประกาศจะขับเคลื่อน โครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นโครงการต่อไป  โดยจะมีการหารือ 3 ฝ่าย(รัฐ-เอกชน-ตัวแทนชาวสวนยาง) เพื่อหาข้อสรุปมาตรการประกันรายได้ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้

ทุบราคายางรับโครงการประกัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศที่จะเริ่มต้นประกันรายได้ให้กับชาวสวนยาง ปรากฏราคายางพาราในประเทศได้ “ตก” ลงทันที โดยราคายางแผ่นดิบท้องถิ่น ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 อยู่ที่ กก.ละ 36.85 บาท จากระดับราคาเฉลี่ยในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-24 กันยายน 2562 อยู่ที่ประมาณ 38 บาท/กก. ราคาน้ำยางสด ณ โรงงาน กก.ละ 37.80 บาท จากระดับราคาเฉลี่ยระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-27 กันยายนอยู่ที่ กก.ละ 39-40 บาท และราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ได้ตกลงมาเหลือแค่ กก.ละ 38.49 บาท จากระดับราคาเฉลี่ยระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม-25 กันยายนอยู่ที่ กก.ละ 41-42 บาท

โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ตามราคาการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 อยู่ที่ กก.ละ 38.49 บาทนั้นถือว่า “ต่ำสุด” ในรอบ 17 ปี นับจากเดือนกันยายน 2545 และมีการตั้งข้อสังเกตถึงความ “ผิดปกติ” ของราคายางภายในประเทศดูเหมือนว่ากลุ่มบริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศจะพร้อมใจกันแจ้งราคาลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมจากเหตุผลอย่างเป็นทางการที่ว่า บริษัท Chongqing Commercial Chemical ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางแท่งอันดับ 1 ของจีนและอันดับ 5 ของโลกจะหยุดกิจการ ส่งผลให้ราคายาง RSS หรือยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ตลาดโตคอมที่จะส่งมอบในเดือนมีนาคม 2563 ลดลง 2.9% ขณะที่ราคายางแท่ง (STR 20) สำหรับส่งมอบในเดือนมกราคม 2563 ตลาดสิงคโปร์ลดลง 2.8% “ผู้ส่งออกยางยืนยันว่าในช่วงนี้ยังรับซื้อยางตามปกติ ราคายางที่ปรับลดลงทั้งระบบไม่ใช่เป็นการทุบราคาเพื่อรอโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลแต่อย่างใด” ผู้ส่งออกยางรายหนึ่งกล่าว

หวั่นสวมสิทธิเข้าโครงการ

ทั้งนี้ในโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยางที่นำเสนอโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการตั้งงบประมาณในการดำเนินการทั้งหมด 16,927,337,875 บาท กำหนดราคาประกันรายได้ยางพารา 4 ประเภทคือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 60 บาท, ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 58 บาท, น้ำยางสด (DRC 100%) กก.ละ 56.50 บาท และยางก้อนถ้วยหรือยางเครป (DRC 100%) กก.ละ 50 บาท การประกันรายได้จะใช้ “ราคาอ้างอิง” ตามประกาศเหมือนกับการประกันรายได้ให้กับชาวสวนปาล์ม โดยโครงการน่าจะเริ่มได้ในเดือนตุลาคม 2562-มีนาคม 2563

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางได้ตั้งข้อสังเกตถึงทิศทางราคายางในประเทศที่ค่อนข้าง “ผิดปกติ” อยู่ในขณะนี้ กล่าวคือมีการแจ้งราคารับซื้อลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น จะส่งผลให้รัฐบาลจะต้องจ่ายเงิน “ชดเชย” ส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้ยางที่ กก.ละ 60 บาทกับราคาอ้างอิงที่จะถูกประกาศออกมาทันทีที่เริ่มต้นโครงการมากกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ โดยราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 จากที่เคยอยู่ในระดับ กก.ละ 40-41 บาท (ถ้าราคาอ้างอิงเป็น กก.ละ 41 บาท) รัฐบาลก็จะต้องจ่ายชดเชยแค่ กก.ละ 19-20 บาท แต่ราคายางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ในปัจจุบันตกลงมาอยู่ที่ กก.ละ 38 บาทกว่า ส่งผลให้รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวสวนยางมากกว่า กก.ละ 22 บาท

“เรากลัวกันว่าจะเกิดการสวมสิทธิเกษตรกรชาวสวนยางพารา ถ้ารัฐไม่เข้ามาควบคุมดูแลในส่วนนี้ เนื่องจากราคายางพาราในตลาดโลกตกต่ำลง” เกษตรกรชาวสวนยางตั้งข้อสังเกต

น้ำยางสดร่วง 3 โล 100

นายไพรัช เจ้ยชม ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด กล่าวถึง สถานการณ์ยางพาราตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนเป็นต้นมาว่า น้ำยางสดราคา 33 บาท จากราคา 36 บาท/กก. โดยราคาลงมาถึง 3 บาท/กก. สำหรับบางพื้นที่และยังมีแนวโน้มจะลงอีก ทั้งนี้การขยับราคายางลงมาเป็นโอกาสให้กลไกการตลาด “ทุบราคาลงมาด้วย” ถือว่าเป็นการต้อนรับนโยบายประกันราคายางพาราของรัฐบาลภายในเดือนตุลาคม 2562 นี้ที่เคยหาเสียงไว้ว่า รัฐบาลจะทำให้ยางพาราขึ้นไป โดยยางรมควัน 60 บาท/กก. และน้ำยางสดประมาณ 57 บาท/กก.

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกลุ่มน้ำยางสดบ้านพรุเตียว อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า ราคายางเคลื่อนไหวถดถอยตกลงมามากตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน โดยโรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้นส่งออกราคา 37 บาท/กก. และเข้ามาซื้อยางตามหมู่บ้านราคา 34-35 บาท/กก. โดยโรงงานอ้างว่า “ส่งออกไม่ได้” สต๊อกของโรงงานเหลือค้างเป็นจำนวนมาก

รัฐอัดฉีดสภาพคล่อง ธ.ก.ส.

ด้านการประกันรายได้โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรงวดที่ 1 วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปแล้วนั้น นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 กล่าวว่า ราคาตลาดอ้างอิงจะใช้ระหว่างวันที่ 12 ส.ค.-25 ก.ย 62 (งวดแรก) ปาล์มน้ำมัน (เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18%) กก.ละ 2.68 บาท จากราคาเป้าหมายประกันรายได้ กก.ละ 4 บาท

ดังนั้น ธ.ก.ส.จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร กก.ละ 1.32 บาท เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่เกิน 25 ไร่ต่อครัวเรือน รวมผลผลิตทั้งหมดไม่เกิน 2,906 กิโลกรัม หรือผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ไร่ละ 363.25 กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับเกษตรกรได้รับเงิน 11,987.25 บาทต่อครัวเรือน โดยสามารถรับเงินได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 ไปอีก 45 วันก็จะมีการประกาศราคาตลาดอ้างอิงงวดที่ 2 ต่อไป

ขณะที่นายสมเกียรติ กิมาวะหา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินไว้รองรับการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 13,378 ล้านบาท ซึ่งคำนวณมาจากจำนวนเกษตรกร 300,000 ราย และการเคลม (เงินชดเชย) กำหนดไว้ต้องจ่ายภายใน 3 วัน ส่วนการประกันรายได้ให้กับชาวสวนยางพารานั้น “ธ.ก.ส.ยังรอฟังนโยบายอยู่ และไม่ว่าจะเป็นนโยบายแบบไหนมา โดยสภาพคล่อง ณ ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ก็พอมีอยู่” นายสมเกียรติกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเข้ามาว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณ ปี 2562 จากงบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินเป็นจำนวน 10,000 ล้านบาท ให้กับ ธ.ก.ส.เพื่อลดจำนวนลูกหนี้รอการชดเชยของรัฐบาล สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2559/60 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 26,779 ล้านบาทเศษลง เพื่อไม่ให้ภาระที่เหลืออยู่สูงจนเกินไป ซึ่งในกรณีนี้ นายสมเกียรติยอมรับว่า การที่ ธ.ก.ส.ได้รับจัดสรรงบประมาณข้างต้นคืนมาทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องเพิ่มเติมในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงต่อไป