เปิดร่าง กม.อากาศสะอาด นายกฯ นั่งบัญชาการคุมฝุ่น PM 2.5

ผ่านช่วงอากาศสดใส หลังหยุดปีใหม่ 2563 มาเพียงไม่กี่วัน ไทยต้องกลับมาเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 สูงเกินกว่ามาตรฐาน 90 มคก./ลบ.ม. ในหลาย ๆ พื้นที่ กรมควบคุมมลพิษได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม เพื่อเดินหน้าแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้งแจ้งเตือนประชาชนว่าผลจากการเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ ประกอบกับมวลอากาศเย็นที่สูงขึ้น ลมพัดลดลง จะเป็นเหตุให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอย่างกว้างขวาง

ประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะตามสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนต้องได้รับอากาศสะอาดเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต จึงถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม เพื่อความสะอาดของอากาศ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะสั้น-กลาง-ยาว อย่างเป็นรูปธรรมออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

หวั่นอากาศพิษกระทบท่องเที่ยว

ขณะที่อีกด้าน “นายกลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่าภาคเอกชนห่วงว่าปัญหาฝุ่นดังกล่าวจะส่งผลกระทบขยายวงกว้างไปถึงบรรยากาศการท่องเที่ยว และแม้จะมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่พอสมควรแต่ยังไม่ชัดเจน และไม่บูรณาการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา

จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาสถานการณ์เท่านั้นเป็นที่มาของการเร่งรัดผลักดัน “พระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่อความสะอาดของอากาศ” ซึ่งผ่านความเห็นพ้องกันทั้งหอการค้าทั่วประเทศ และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งได้ร่วมกันเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ สนับสนุน เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อนำเข้าพิจารณาของรัฐสภา

โชว์ร่าง กม.ใหม่

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว มีจุดประสงค์หลักเพื่อพัฒนาและบูรณาการระบบการบริหารจัดการทุกภาคส่วน วางระบบป้องกันการปล่อยมลพิษ เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ บริหารจัดการระบบงบประมาณ การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศ ระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบการเตือนภัย จากสถานการณ์อากาศ ระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤต ระบบการพัฒนาองค์ความรู้

โดยร่างกฎหมายนี้ประกอบด้วย 8 หมวด 49 มาตรา (กราฟิก) สาระสำคัญที่จะเห็น หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน คือการบูรณาการหน่วยงาน 9 กระทรวง 3 สำนัก ภาคประชาชนและภาคเอกชนในการบริหารจัดการอากาศสะอาด โดยผ่าน “คณะกรรมการอากาศสะอาด” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นรองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยกรรมการ ได้แก่ ระดับรัฐมนตรีว่าการ 9 กระทรวง คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการป้องกันหรือแก้ไขคุณภาพอากาศไม่เกิน 8 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ ซึ่งต้องมีผู้แทนภาคเอกชนร่วมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และให้มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นกรรมการและเลขานุการ

บทบาทสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมของชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ยุทธศาสตร์ เสนอแนะมาตรการด้านการเงิน การคลัง ภาษี และการส่งเสริมการลงทุนด้านนี้ต่อ ครม. รวมถึงแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งในจุดนี้ยังกำหนดให้มี คณะกรรมการอากาศสะอาดในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ซึ่งจะมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นเลขานุการ

วางมาตรฐาน-ระบบตรวจสอบ

สำหรับแนวทางบริหารจัดการได้ถูกกำหนดไว้ในหมวด 3-7 กล่าวคือ ภายใต้กฎหมายนี้ต้องมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาดในชั้นบรรยากาศโดยทั่วไป ตามมาตรฐานสากล กำหนดค่ามาตรฐาน คุณภาพอากาศสะอาด เพื่อการฟื้นฟูคุณภาพอากาศ จัดทำรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ เพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด และหมวดที่ 4 ระบบการตรวจคุณภาพอากาศและพัฒนาระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศ จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของแหล่งมลพิษต่าง ๆ จัดทำรายงานผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤต หมวดที่ 5 กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ แนวปฏิบัติการกำกับทิศทางและการจัดสรรงบประมาณพัฒนา และปรับปรุงกรอบแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทุก 3 ปี

หมวด 6 กำหนดให้มี “คณะกรรมการมลภาวะทางอากาศ” โดยมีปลัดกระทรวง ทส.เป็นประธาน กรรมการระดับอธิบดี จากกรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน ซึ่งคณะกรรมการอากาศสะอาดแต่งตั้งขึ้น และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่กำหนดค่าความเป็นพิษ ให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีประกาศกำหนดเขตพื้นที่ แหล่งมลพิษทางอากาศ

โดยแหล่งมลพิษทางอากาศตามกฎหมายนี้กำหนดให้ระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอกำหนดไว้ในแผนที่ข้อมูลสารสนเทศตามช่วงระยะเวลากรรมการอากาศสะอาดกำหนด แบ่งเป็นแหล่งมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม, แหล่งมลพิษการเผาในที่โล่ง, แหล่งมลพิษการก่อสร้าง, แหล่งมลพิษจากยานพาหนะ, แหล่งมลพิษทางอากาศที่อยู่ในราชอาณาจักร และแหล่งมลพิษทางอากาศอื่น ๆ

จากนั้นให้ให้กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อกำหนดขอบเขตที่มลพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อพัฒนาระบบจัดการสภาพแวดล้อม ให้จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ และติดตาม แจ้งเตือนประชาชนในเขตพื้นที่ รวมถึงกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน ภาษี การออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดและประเภทของมลพิษ ประสานงาน และจัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์มลพิษเสนอคณะกรรมการอากาศสะอาดทุก 3 เดือน เป็นต้น และหมวด 7 เป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานเพื่อความสะอาดอากาศให้การจัดเก็บข้อมูล เรียกให้ข้อมูล หรือเข้าตรวจสอบพื้นที่ และหมวด 8 มาตรการลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และไม่อำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ ในรูปของค่าปรับ


ถือเป็นความท้าทายอย่างของไทย หากกฎหมายนี้สำเร็จจะเป็นการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ เพื่อความสะอาดของอากาศของประเทศไทย ซึ่งต้องเปลี่ยน mindset ของการมองปัญหา ระบบ และวิธีการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน รวมทั้งการทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีการวาง “คณะกรรมการอากาศสะอาด” เป็นองค์กรและกลไก ทำหน้าที่พัฒนาระบบการจัดการอากาศของประเทศ และมีกลไกรับผิดชอบระดับท้องถิ่น เพื่อวางระบบมาตรฐานคุณภาพอากาศ เฝ้าระวัง ติดตามเตือนภัย และแก้ไขสถานการณ์เมื่อเกิดวิกฤตการณ์คุณภาพอากาศ