SMEs ใกล้ตาย ”โควิด-19” ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 27 เดือน

เอ็สเอ็มอีใกล้ตาย ไวรัส”โควิด-19″ ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าต่ำสุดในรอบ 27 เดือน เงินหายจากระบบเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยจากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.พ. 2563 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 44.9 จากเดือน ม.ค.อยู่ที่ 45.4 ต่ำสุดในรอบ 27 เดือน (9 ไตรมาส) แต่ยังคงคาดการณ์ว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าดัชนีฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 47

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไป ภัยแล้ง ความกังวลจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสะท้อนถึงเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลออกจากไทย และเศรษฐกิจโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจครึ่งปีแรกประมาณ 500,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบเพียง 150,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงสุด รองลงมาคือภาคบริการ และท่องเที่ยว ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลดัชนีฯ ลดลงสูงที่สุด

ดังนั้นเอกชนจึงขอให้รัฐต้องมีแนวทางแก้ปัญหา โดยเพิ่มความเชื่ออมั่นให้ประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ของไวรัส COVID-19, บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ, กระตุ้นการจับจ่ายซื้อสินค้า และหันกลับมาท่องเที่ยว, เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และจัดสรรงบประมาณให้ลงไปถึงระดับรากหญ้า

นอกจากนี้ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs อย่างมาก โดยเฉพาะSMEsขนาดเล็ก ทั้งยอดขายที่ลดลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กำไรลดลง ขาดสภาพคล่อง ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายถึง 484,847 บาท/ราย ภาคบริการในกรุงเทพฯและปริมณฑลกระทบมากที่สุดถึง 33.1%

ซึ่ง SMEs กว่า 79.3% ยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด ขณะเดียวกันมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบ กลับยังไม่เพียงพอเพราะแนวทางไม่ชัดเจน แหล่งเงินทุนจากแบงค์ไม่เพียงพอและไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม จึงไม่สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบได้เลย

และยังเป็นส่วนที่ทำให้ SMEs ในสัดส่วนถึง 73% มีโอกาสลดแรงงานลง โดยเฉพาะขนาดกลางในภาคบริการ ในพื้นที่ภาคกลาง/ตะวันออก และขณะนี้มีบางรายที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กในกรุงเทพ/ปริมณฑล และภาคใต้ ภาคบริการ เริ่มปลดแรงงานบ้างแล้ว

ส่วนรายที่ยังไม่ปลดแรงงานจะเริ่มใช้วิธี ไม่มีการทำงานนอกเวลา (โอที) ลดสวัสดิการ ให้พนักงานหยุดงาน ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน ลดชั่วโมงการทำงาน ลดเงินเดือน และให้พนักงานเกษียณเร็วขึ้น และยังมีการขอยืดระยะเวลาเครดิตไลน์กับทางคู่ค้าจาก 45 วันเป็น 90 วันด้วย

ดังนั้นรัฐจะต้องเร่งออดมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาช่วย เพื่อเสริมทุนของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสภาพคล่อง ลดการเก็บภาษี เป็นต้น