เกษตรฯเฮ รัฐบาลเมียนมาร์ไฟเขียวนำเข้าเนื้อโคไทยพรีเมียมล๊อตแรกสำเร็จ แก้เกมประมง หลังโควิดทุบตลาดจีน-อเมริกา

เกษตรฯเฮ รัฐบาลเมียนมาร์ไฟเขียวนำเข้าเนื้อโคไทยพรีเมียมล๊อตแรกสำเร็จ แก้เกมประมง หลังโควิดทุบตลาดจีน-อเมริกา

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานในพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ณ โรงชำแหละและแปรรูปเนื้อโคเพื่อการส่งออกของ บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำของเครือข่ายโคเนื้อไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (FTA) เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2563 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ขับเคลื่อนยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อโคคุณภาพสูงของไทยอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับฟาร์มให้ได้รับรองมาตรฐาน GAP จนกระทั่งถึงโรงชำแหละและการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน GMP เพื่อการส่งออก ตามมาตรฐานฮาลาล โดยขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และสามารถเปิดตลาดส่งออกสินค้าเนื้อโคคุณภาพสูงสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นผลสำเร็จ โดยหลังจากนี้ กรมปศุสัตว์จะผลักดันให้เกษตรกรผลิตเนื้อโคคุณภาพ ภายใต้คำขวัญ “นิยมไทยบริโภคเนื้อโคไทย” เพื่อลดการนำเข้าเนื้อโคที่อยู่ในตลาดระดับบน พร้อมเข้าสู่การแข่งขันในตลาดอาเซียน

นายสัตวแพย์สมชวน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันตลาดการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์เนื้อโคแปรรูป โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีการส่งออกทั้งสิ้นปริมาณ 2,604 ตัน คิดเป็นมูลค่า 297 ล้านบาท การส่งออกของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในครั้งนี้ ถือเป็นผลดีต่อภาพรวมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ทำให้เพิ่มช่องทางระบายผลผลิตเนื้อโคได้มากขึ้น ความสำเร็จ ในครั้งนี้เกิดจากการประสานความร่วมมือ จึงส่งผลดีต่อการส่งออก ซึ่งจะทำให้ยอดการส่งออกเนื้อโคเพิ่มขึ้น

นายสุริยศักดิ์ ภูธิปฐิติพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด กล่าวว่า สินค้าเนื้อโคขุนที่ส่งออกไปในวันนี้ เป็นของบริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด จำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณ 4,005 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท สำหรับแผนการส่งออกเนื้อโคไทยไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจะมีการส่งออกจากไทยไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าปีนี้จะสามารถส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 30 ตู้ ปริมาณ 120,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 57 ล้านบาท นอกจากนี้ มีเป้าหมายส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา และประเทศมาเลเซียต่อไป นอกจากนี้ บริษัท จะร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ส่งเสริมเกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับตลาดการค้าเสรีได้ต่อไป

ขณะที่ทางด้าน นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศจีนและลามไปทั่วโลก รวมถึงกระทบธุรกิจภาคการประมงที่หลังเกิดสถานการณ์การระบาด ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาส่งผลให้การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าประมงไทย เกิดการชะลอตัว

โดยตลาดจีนไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้ากุ้งมีชีวิตและสดแช่เย็น ซึ่งต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง และต้องใช้บริการการขนส่งทางอากาศเท่านั้น โดยจากการประเมินเบื้องต้น ผลกระทบต่อการส่งออกไปจีนในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2563 การส่งออกกุ้งมีชีวิตและสดแช่เย็น จะลดลง จำนวน 1,500-2,900 ตัน มูลค่ากว่า 340-650 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมประมงจึงได้มีการประชุมหารือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องในการส่งออก ซึ่งจากเดิมจะต้องส่งสินค้ากุ้งมีชีวิตไปทางเครื่องบิน อาจเปลี่ยนเป็นส่งออกโดยรถและเปลี่ยนเป็นกุ้งแช่แข็ง

“เราต้องหาตลาดใหม่ทดแทนจีน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว และกัมพูชา ที่ปัจจุบันมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และในอนาคตน่าจะสามารถขยายตลาดการส่งออกสินค้าประมงได้ในอีกหลายประเทศ ซึ่งกรมประมงคาดหวังว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุด และสามารถช่วยระบายผลผลิตของเกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง” นายบรรจงกล่าว