ไก่ไทยยอดทะลัก “ญี่ปุ่น-จีน” รุมซื้อ อานิสงส์บราซิลซมพิษโควิด

ส่งออกไก่ไทย

โควิดพ่นพิษหนัก บราซิลผู้ส่งออกไก่เบอร์หนึ่งของโลกต้องสั่งปิดโรงเชือด “ซีพีเอฟ” มั่นใจส้มหล่นยอดส่งออกไก่ไทยครึ่งปีหลังสดใสสมาคมส่งออกไก่ชี้ทิศทางส่งออกหลังบราซิลชะลอผลิตออร์เดอร์ญี่ปุ่น-จีนทะลักเข้าไทย ลุ้นยอดส่งออกทั้งปีเข้าเป้า 9.08 แสนตัน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังมีแนวโน้มรุนแรง โดยเฉพาะในบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกไก่อันดับ 1 ปรากฏว่ามีประชาชนติดเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก

ล่าสุด ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล ประเทศบราซิล รายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไก่ในบราซิลอย่างมาก เนื่องจากถึงขณะนี้มีคนงานในโรงเชือดและบรรจุผลิตภัณฑ์ติดเชื้อ 2,399 คน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ขณะเดียวกันการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้บราซิลไม่สามารถขยายปริมาณการผลิตไก่ได้ กระทบต่อเนื่องถึงการบริโภค ขณะที่ราคาสินค้าทั้งในประเทศและที่ส่งออกไปต่างประเทศยังปรับลดลงด้วย มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจบราซิลไตรมาส 1 ขยายตัวลดลง 1.5% จากไตรมาสก่อน ส่วนไตรมาส 2 จะติดลบราว 10%

ทั้งนี้ บราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตไก่รายใหญ่อันดับ 1 ใน 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ในปี 2562 ที่ผ่านมา บราซิลผลิตไก่เนื้อ ปริมาณ 12.86 ล้านตัน จำหน่ายเพื่อบริโภคในประเทศ 68% และส่งออก 32% หรือ 4.214 ล้านตัน มูลค่า 6,994 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ตลาดเอเชีย 37.53% ตะวันออกกลาง 34.39% และแอฟริกา 12.84% ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ยอดส่งออกไก่จากบราซิลเพิ่มขึ้น 5.1% เป็น 1.365 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนเดือนเมษายนมีการส่งออก 343,300 ตัน ลดลง 4.7% จากเดือนเมษายน 2562 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 515.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

บราซิลซมพิษโควิดโอกาสไก่ไทย

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีโรงงานเชือดไก่ของบราซิลประสบปัญหาเรื่องการระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการผลิต ทำให้ผู้บริโภคอาจหันมาซื้อไก่จากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นแทน เป็นโอกาสในการส่งออกของอุตสาหกรรมไก่ส่งออกของไทย ไม่ใช่เฉพาะซีพีเอฟแต่ผู้ส่งออกไทยทุกรายได้ประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกไก่ไปป้อนตลาดโลกเป็นเบอร์ 2 รองจากบราซิล แต่มีปริมาณการส่งออกห่างกันมาก โดยในแต่ละปีบราซิลส่งออกประมาณ 4 ล้านตัน ส่วนไทยส่งออก 9 แสนตันเท่านั้น และมีการแข่งขันส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ เช่นเดียวกันไทย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น

“จากที่ติดตามสถานการณ์ บราซิลมีการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นแต่ละวันเยอะมาก มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจจะกังวล หันมาซื้อไก่จากผู้ส่งออกรายอื่น ๆ แต่ก็คงไม่ถึงกับทำให้ยอดส่งออกไก่ของไทยพุ่งขึ้นทันที ไทยซึ่งคอนโทรลการแพร่ระบาดได้ดีและที่ผ่านมาสามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยได้เป็นที่น่าพอใจจึงต้องรีบคว้าโอกาสนี้ อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่เรายังต้องจับตาคือเรื่องค่าเงิน เพราะเงินบราซิลอ่อนค่าจึงยังมีความได้เปรียบไทยระดับหนึ่ง”

ตลาดญี่ปุ่น-จีนขยายตัวเพิ่ม

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในทำนองเดียวกันว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้บราซิลมีปัญหาในการผลิตและส่งออกไก่ ประเด็นนี้ส่งผลดีต่อการส่งออกไก่ของไทย เพราะช่วงนี้ตลาดจีนและญี่ปุ่นกลับมาสั่งซื้อไก่จากไทยมากขึ้น ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ภาพรวมการส่งออกไก่ขยายตัวดีมาก

โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ตลาดอันดับ 1 ของการส่งออกไก่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดจีนก็เติบโตขึ้นถึง 60% จากที่ก่อนหน้านี้โรงงานของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยให้ส่งออกไปจีนได้ 8 โรงงาน จึงสามารถส่งออกได้ 60,000 ตัน จากเดิมที่เคยทำได้เพียง 18,000 ตัน นอกจากนี้ยังทำให้ราคาไก่ไทยปรับตัวดีขึ้น จาก กก.ละ 27-28 บาท เป็น 34-35 บาท ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด

ลุ้นยอดส่งออกเข้าเป้า 9 แสนตัน

“ครึ่งปีหลังก็มีแนวโน้มว่าจะยอดส่งออกไก่ไทยไปจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก เพราะยังเหลือโรงงานที่รอการรับรองอีก 6-7 โรงงาน ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณาในช่วงครึ่งปีหลังนี้ น่าจะส่งผลด้านบวกทำให้มีคำสั่งซื้อไก่จากไทยทั้งปีเพิ่มขึ้นเป็น 80,000-100,000 ตัน เป็นปีแรก ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่จะมาช่วยชดเชยตลาดสหภาพยุโรปตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์หลังโควิด-19 ช่วยผลักดันภาพรวมการส่งออกไก่ทั้งปีได้ 908,000 ตัน ตามเป้าหมาย ส่วนปีหน้าต้องรอผลอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ในวันที่ 1 ม.ค. 64 ซึ่งอาจจะทำให้โควตาไก่ไปยังสหภาพยุโรปเปลี่ยนแปลง”


ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการเลี้ยงไก่ประมาณ 1,680 ล้านตัว เป็นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ 70% และส่งออก 30% ตลาดหลักคือญี่ปุ่น 400,000 ตัน สหภาพยุโรป 300,000 ตัน ตะวันออกกลาง 70,000-80,000 ตัน และจีน 10,000-20,000 ตัน ซึ่งแต่ละตลาดจะเน้นการบริโภคชิ้นส่วนไก่คนละประเภท อาทิ ตลาดจีนนิยมตีนไก่และปีก ตลาดญี่ปุ่นนิยมส่วนน่องและสะโพก ตลาดอียูนิยมอกไก่ เป็นต้น