“ธนาคารโลก” คาดจีดีพีไทยปีนี้หด 5% ใช้เวลานาน 2 ปีฟื้นตัว

AP Photo/Sakchai Lalit

ธนาคารโลกเปิดตัวรายงาน “ตามติดเศรษฐกิจไทย: ประเทศไทยในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ในวันนี้ (30 มิถุนายน) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยจะหดตัวลงราว 5% ในปี 2020 นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจหดตัวลงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดยธนาคารโลกได้สำรวจผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยระบุว่า มาตรการควบคุมโรคระบาดได้ส่งกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของไทย จากการที่ห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกทั่วโลกอ่อนตัวลง ส่วนภาคการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็น 15% ของจีดีพีไทยก็หยุดชะงักเช่นเดียวกัน

ขณะที่มาตรการจำกัดการเดินทางภายในประเทศก็ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนไทยลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกและภาคบริการ โดยยอดการขายสินค้าคงทนลดลงเกือบ 12% ในช่วงไตรมาส 1/2020 นอกจากนี้ ความต้องการใช้จ่ายที่อ่อนแอและราคาพลังงานที่ลดลง ยังส่งให้อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงอย่างรวดเร็วและอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ไทยมีมาตรการรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 หลายมาตรการ ซึ่งรวมแล้วคิดเป็น 12.9% ของจีดีพี โดยแบ่งได้เป็น มาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็น 5.9% ของจีดีพี โดยเม็ดเงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืม

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีมาตรการรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนคิดเป็น 2.4% ของจีดีพี และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคเอสเอ็มอีราว 2.9% ของจีดีพี ทั้งยังมีมาตรการลดภาษีและการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลให้ภาคครัวเรือนของไทยอ่อนแอ ธนาคารโลกคาดว่าจำนวนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน (ราว 169 บาท) จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากประมาณ 4.7 ล้านคนในไตรมาส 1/2020 เป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาส 2/2020 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับ 7.8 ล้านคนในไตรมาส 3/2020

ซึ่งธนาคารโลกยังระบุด้วยว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอนและยังต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นตัวด้านต่าง ๆ ทั้งด้านอุปสงค์ภายในประเทศและการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน ขณะที่ การฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานและการส่งออก รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เป็นปัจจัยภายนอกที่จะมีผลต่อระยะเวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยด้วย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 ปี จึงจะกลับมาฟื้นตัวในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจีดีพีไทยในปี 2021 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.1% และในปี 2022 คาดว่าจะขยายตัวราว 3.6% ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องอาศัยมาตรการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเยียวยาภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ ทันสมัย ครอบคลุม และบูรณาการ


ส่วนในระยะยาวไทยควรพัฒนาด้านแรงงาน โดยมีนโยบายและโครงการเพิ่มพูนทักษะในด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความยืดหยุ่นทางการคลัง และการใช้งบประมาณอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ไทยมีความพร้อมสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้