ปิ๊งไอเดียผุดคลาวด์ฟันดิ้ง หนุนท้องถิ่นผลิต ‘พลังงาน’

ก.พลังงาน เสนอปลดล็อกข้อจำกัดนโยบาย BCG เร่งเครื่องพลังงานทดแทน ตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อพลังงานชุมชน 5,000 ล้านบาทระดมทุนจากคลาวด์ฟันดิ้งเปิดทาง SMEs-OTOP เข้าถึงเทคโนโลยี พร้อมผุดแผนสนับสนุนลงทุนตามโซน “BCG Promotion Zone” นำร่องภาคอีสาน

นายทวารัฐ สูตะบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน และในฐานะบอร์ด Governing Board Member ของ The Renewable Energy and Energy Efficiency Partnership (REEEP) ด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวถึงแผนการสนับสนุนชุมชนภายใต้นโยบายเศรษฐกิจ BCG ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ว่าคณะทำงานกลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ (BEMC) ได้วางโมเดลเรื่องการใช้ทรัพยากรเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีในแต่ละชุมชนมาเป็นต้นทุน เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ จึงเสนอกลไกการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อพลังงานชุมชน 5,000 ล้านบาทเข้ามาเป็นกลไกหลักทำหน้าที่ทั้งอบรมสร้างช่างฝีมือ และปล่อยกู้ เพื่อให้พลังงานทดแทนเกิดขึ้นจริง ในระดับชุมชนก่อน ซึ่งต้องเริ่มด้วยการเจาะระดับ SMEs กลุ่ม OTOP ให้เข้าถึงเทคโนโลยีโดยไม่มีเงื่อนไขจากข้อจำกัดใด ๆ

“กองทุนนี้จะไม่ขอจากภาครัฐ และไม่รวมอยู่ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาทแต่อาจใช้รูปแบบการระดมทุนจากภาคเอกชน ระดมทุนแบบคลาวด์ฟันดิ้งเอาไปแลกกับเครดิตคาร์บอนที่อาจจะลดหรือเกิดจากการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ใช้น้ำมันมาเป็นพลังงานทดแทนในระดับชุมชนได้เป็นคอนเซ็ปต์หนึ่งที่จะหาเงินมาได้ ซึ่งมันมีวิธีที่หลายหลาก โดยวงเงินกองทุน 5,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1,000 ล้านบาท เน้นช่วยทำแผนอบรมช่างชุมชน อีก 4,000 ล้านบาท ใช้เพื่อการปล่อยกู้ในชุมชนเพื่อเป็นเงินทุนสร้างเทคโนฯและสร้างอาชีพ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายพลังงานทดแทนอยู่แล้วแต่เป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เช่น โรงไฟฟ้า ขนาด 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไปหรือโรงงานไบโอชีวภาพที่มีขนาดกำลังการผลิตระดับหลายล้านลิตร แต่กลไกขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนผ่านที่แท้จริงไปสู่พลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนมากขึ้นจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกนี้ขึ้นมาก

“ต้องยอมรับว่าเดิมชุมชนค่อนข้างเสพติดการช่วยเหลือด้านพลังงานทดแทนจากภาครัฐ สังเกตจากการปฏิเสธการใช้พลังงานทดแทนหากรัฐไม่ช่วย บวกกับเงื่อนไขว่าต้องเข้าร่วมโครงการกับทางภาครัฐเท่านั้นจึงจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานทดแทนได้ เช่น โครงการตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์อบแห้ง ซึ่งมีกระบวนการง่าย ๆคือการกักเก็บแสงอาทิตย์ในรูปแบบของความร้อน แล้วนำมาอบเพื่อแปรรูปอาหาร แต่จะต้องเข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานราชการ ซึ่งกลายเป็นกับดักที่ส่งผลให้ชุมชนเข้าไม่ถึงโครงการด้านพลังงานทดแทน ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไมนด์เซตใหม่ และมีกลไกปลดล็อก ถ้าอยากให้เข้าถึงการเปลี่ยนผ่านได้ หัวใจสำคัญต้องมี 2 อย่างคือ ต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนว่าจะนำเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร และต้องมีกองทุนที่จะนำมาส่งเสริมเทคโนโลยีระดับชุมชนที่แปลงเป็นรายได้


“นโยบาย BCG การมีแผนที่ดีหรือแผนพลังงานท้องถิ่น local energy planning ต้องมาในรูปแบบของการจัดโซน หรือ BCG Promotion Zone เช่น BCG เหมาะมากกับที่จะเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพราะมีวัตถุดิบจำนวนมาก แรงงานมากพอ สามารถทำได้ และให้กำหนดสิทธิประโยชน์ ภาษีเข้าไปเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน เนื่องจากปัจจุบันพลังงานทดแทนในไทยก้าวมาไกล แต่กลับพบว่าเริ่มหยุดอยู่กับที่เพราะรัฐไม่ช่วย นอกจากกลไกการตั้งกองทุนขึ้นมาแล้ว อาจต้องโปรโมตเป็นโซน การจัดโซนจะทำให้เกิดความแตกต่าง กระตุ้นความสนใจเข้ากับคอนเซ็ปต์ BCG อยู่แล้ว ดังนั้น ภายใต้แนวคิดพลังงานชุมชนต้องควรทำให้เกิด BCG Promotion Zone ถ้าเป็นลักษณะนี้ได้มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน”