เปิดร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ แขวน ม.39 ลดแรงต้านจัดเก็บค่าน้ำ

นับวันการหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมของประเทศหาได้ยากยิ่งขึ้นจากงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดในการเวนคืนที่ดินและงบฯค่าก่อสร้างโครงการที่พุ่งขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีกฎหมายหลักในการบริหารจัดการน้ำดิบ คือ พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 ที่เป็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานของกรมชลประทาน ทั้งนี้ ในมาตรา 4 พ.ร.บ.การชลประทานหลวง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2507 ได้มีการแก้ไขมาตรา 8 ของกฎหมายเดิม โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน ในอัตราไม่เกินไร่ละ 5 บาทต่อปี โดยออกกฎกระทรวง แต่ในความเป็นจริงไม่มีการออกกฎกระทรวงเก็บค่าชลประทานแต่อย่างใด

แต่ล่าสุด เสียงคัดค้านจากเกษตรกรทั่วประเทศก็ดังกระหึ่มขึ้นพร้อมเพรียงกัน เมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยกร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์ให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด ปล่อยน้ำเสียน้อยที่สุด รวมทั้งปิดช่องโหว่การใช้น้ำฟรีและการลักลอบการใช้น้ำนอกเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ทำให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แม้ไม่ใช่เจ้าของต้นร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องออกมาพูดว่า ไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรแต่อย่างใด

รวมทั้ง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ว่าที่อธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ ออกมารับรองด้วยว่า “เกษตรแปลงใหญ่” ที่มีเกษตรกรจำนวนมากมารวมกลุ่มกันทำการเกษตรแปลงใหญ่หรือผู้ที่ทำเกษตรเกิน 50 ไร่ กรมชลประทาน “ไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำชลประทานแต่อย่างใด” เกษตรกรในส่วนที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานจึงคลายวิตกกังวลได้ระดับหนึ่ง แต่ในส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน แน่นอนยังมีความวิตกกังวลอยู่ แม้ในความเป็นจริง เกษตรกรต้องเสมอภาคกัน คือไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ไม่ว่าจะอยู่เขตไหน

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำใหม่ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายแม่ของเรื่องน้ำ จึงมีทั้งหมด 100 มาตรา ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบในหลักการเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 1 และแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายไปได้ 95 มาตราแล้ว แต่ยังมีการแขวนพิจารณาหลายมาตรา คาดว่าข้อสรุปทั้งหมดของร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะเสร็จสิ้นในวันที่ 27 ต.ค.นี้ จะต้องยืดออกไปอีก 90 วัน เป็นปลายเดือน ม.ค. 2561 แทน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่นี้ จะมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารจัดการ กำกับ ดูแล ทั้งการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายนี้ ทั้งเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำ การใช้น้ำ ทรัพยากรน้ำสาธารณะ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำในทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายใดกำหนดเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนาฯไว้โดยเฉพาะ ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น

เรื่องสิทธิในน้ำ เพื่อป้องกันการแก่งแย่งน้ำกันในอนาคตมากขึ้น ก็มีการกำหนดไว้ในมาตรา 7-8 ว่า ทรัพยากรน้ำสาธารณะเป็นของส่วนรวม บุคคลมีสิทธิใช้หรือเก็บกักน้ำได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน โดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งอาจจะใช้น้ำนั้น

ส่วนการจัดสรรน้ำ ตามมาตรา 39 ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ ปรากฏคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯได้ประกาศแขวนการพิจารณามาตรานี้ไว้ก่อนเพื่อยุติความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดจาก “การเรียกเก็บค่าน้ำ” โดยมาตรานี้ได้มีการแบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเป็น 3 ประเภท คือ การใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อดำรงชีพทั้งอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย การใช้น้ำประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และการใช้น้ำประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

ลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท 1-3 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่จะออกหลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการแต่ละลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง และโดยความเห็นชอบของ กนช. มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้น้ำประเภทที่ 1 สำหรับแต่ละลุ่มน้ำได้

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำประเภทที่ 2 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะตั้งอยู่ ตลอดจนการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต แต่ไม่ใช้บังคับกับการใช้น้ำของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนการใช้น้ำประเภทที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ โดยความเห็นชอบของ กนช. และมีการยกเว้นไม่ใช้บังคับการใช้น้ำของหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเภทที่ 2

ในขณะที่มาตรา 47 ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช.มีอำนาจที่จะออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนด “อัตราค่าใช้น้ำ” สำหรับการใช้น้ำประเภทที่ 2 กับประเภทที่ 3 เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตว่า ไม่มีอัตราการใช้น้ำประเภทที่ 1 เพื่อการดำรงชีพ-อุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตร/เลี้ยงสัตว์ยังชีพ อุตสาหกรรมในครัวเรือน และการใช้น้ำปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่อย่างใด

เรื่องการแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วม-น้ำแล้ง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศเขตฉุกเฉิน กำหนดวิธีการใช้น้ำเพื่อลดปริมาณการใช้ และห้ามใช้น้ำบางประเภทเกินกว่าจำเป็นแก่การอุปโภคบริโภค รวมทั้งกำหนดวิธีการแบ่งปันน้ำในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหา ส่วนการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วม ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า ทั้งกรณีปกติและกรณีฉุกเฉิน


สุดท้ายคือ บทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน กำหนดบทลงโทษไว้ถึง 15 มาตราแล้วแต่กรณีที่ฝ่าฝืน โดยโทษสูงสุดคือ ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (2) ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กนช.มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ในเรื่องต่อไปนี้ได้ คือ (2) กำหนดห้ามกระทำใด ๆ ที่มีผลเป็นการเสื่อมสภาพแหล่งน้ำหรือเสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำหรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแหล่งน้ำฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น