ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ ทบทวนแผน PDP รื้อใหญ่โรงไฟฟ้าชุมชน

สายส่งไฟฟ้าแรงสูง

ไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ บีบ รมว.พลังงานคนใหม่ตัดสินใจ พร้อมข้อเสนอเจรจา กฟผ. เลื่อนโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ เจรจายกเลิกซื้อไฟฟ้า สปป.ลาว เปิดทางรื้อร่างแผน PDP 2018 Rev.1 รอลุ้นนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน

รายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แสดงความกังวลถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ ณ ปัจจุบัน ได้เพิ่มสูงถึงระดับ 50% ไปแล้ว อันเนื่องมาจากการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ความจริงปริมาณสำรองไฟฟ้าในช่วง 10 ปีแรกของแผน PDP 2018 ก็ล้นเกิน การระบาดของไวรัสโควิดเป็นตัวเร่งให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว โดยตัวเลขการจัดหาไฟฟ้าล่าสุดระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 มีกำลังผลิตตามสัญญาอยู่ที่ 50,327 MW และเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าส่วนสูงสุด (peak) ของ 3 การไฟฟ้า ณ วันที่ 13 มีนาคม อยู่ที่ 30,342 MW ส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศอยู่ที่ 88,146 GWh การใช้ไฟฟ้าลดลงเหลือ 78,672 GWh หากคำนวณคร่าว ๆ จะพบว่า มีปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นเกินอยู่เกือบ 10,000 MW เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดมาตรฐาน 800 MW ถึง 12 โรงทีเดียว”

ความเป็นไปได้ในการปรับลดปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินในระบบในอีก 10 ปีข้างหน้าก็คือ การปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบ กับการลดการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก สปป.ลาวลง นั่นหมายถึงจะต้องทำการแก้ไขปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับปรับปรุงแก้ไข (ร่างแผน PDP 2018 Rev.1) ใหม่หมด โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อาจจะต้องเป็นผู้รับภาระในการยอมเสียสละ “เลื่อน” หรือ “ยกเลิก” โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบ เนื่องจากการเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ภาคเอกชน (IPP) เป็นเรื่องยาก เพราะมีการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าผูกพันกันไว้แล้ว

“จากการสำรวจในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ (2563-2572) ยกเว้นกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ของกัลฟ์ ก็จะมีเพียงโรงไฟฟ้าทดแทน หรือโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ.เท่านั้นที่จะต้องทยอยเข้าสู่ระบบ ในส่วนนี้สามารถบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงไฟฟ้าใหม่รายภาค กำลังผลิต 700 MW กับการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่ยังไม่มีสัญญาอีกประมาณ 1,400 MW หากสามารถบริหารจัดการโรงไฟฟ้าในกลุ่มนี้ได้ก็จะช่วยลดปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินลง เท่ากับค่าไฟฟ้าของประชาชนก็จะลดลงด้วย”

ล่าสุด นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงขึ้น 30-40% จากอัตรากำลังผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 50,300 MW ในขณะที่สัดส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าตามแผนควรจะต้องอยู่ที่ 15-18% เพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้ากับประชาชน “จะต้องเจรจากับ กฟผ. การขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน การให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนหยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และการเลื่อนการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดย สนพ.จะเตรียมแผนงานเสนอ รมว.คนใหม่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่จะต้องสานต่อ อาทิ โรงไฟฟ้าชุมชน แต่ต้องรอ ครม.ผ่าน PDP ฉบับปรับปรุงใหม่ก่อน”

ด้านแหล่งข่าวในวงการพลังงานทดแทนตั้งข้อสังเกตว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการส่งสัญญาณผ่านสื่อถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกินอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ที่จะต้องทบทวนโครงการต่าง ๆ ในสมัยนายสนธิรัตน์ อดีต รมว.พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จำนวน 1,933 MW อาจจะต้องเลื่อนออกไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและนโยบายของ รมว.พลังงานคนใหม่ด้วย