สมุดปกขาวภาคประชาชน ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนถึงมือ รมต.ใหม่

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน
"นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน

ข้อเท็จจริงที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมแถลงต่อสาธารณชนก็คือ ในช่วง 10 ปีแรก (2561-2570) ของประเทศตกอยู่ในภาวะ “ล้นเกิน” อย่างหนัก จนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ (ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ถึงกำหนดต้องปลดออกจากระบบ)

ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดำรงอยู่ในช่วงปลายสมัยการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เจ้าของนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามแผนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนหลัก หรือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018)

ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากแผนดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาของ ครม. ประกอบกับนายสนธิรัตน์ ต้อง “ลาออก” จาก รมว.พลังงานเสียก่อน

ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะ “ตัวแทน” ของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้จัดสัมมนา “ข้อเสนอ AEDP ภาคประชาชน” เพื่อจัดทำเป็น “สมุดปกขาว” ยื่นข้อเสนอการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เสนอต่อ “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานคนใหม่

สมุดปกขาวถึง รมว.พลังงาน

ที่ผ่านมาภาคเอกชนและภาคประชาชนแทบจะไม่มีส่วนในการเสนอแก้ไขปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 แผนหลัก คือ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) กับแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ในร่างแผน PDP 2018 Rev.1 ฉบับล่าสุด ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความ “จำเป็น” ต้องยกร่างแผน AEDP ฉบับประชาชนขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อ “นำเสนอ” จากการระดมความคิดเห็นต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงานคนใหม่ ก่อนที่จะประกาศนโยบายพลังงานชุดใหม่ออกมา

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฐานะผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (prosumer) กล่าวในระหว่างการสัมมนาว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง พลังงานสีเขียว (green ener-gy) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทุกประเทศ โดยจากการติดตามข้อมูลพบว่า ขณะนี้แหล่งเงินทุนของโลกจะมีเงินทุนสนับสนุนเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นใช้ไปที่ sector พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม ดังนั้น จึงถึงเวลาที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์พลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อมจะสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทุกประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงาน รัฐบาลจะมองข้ามพลังงานหมุนเวียนไม่ได้ รมว.ท่านใหม่เก่งเรื่องเศรษฐกิจ-เศรษฐศาสตร์ ที่ผ่านมาเราอาจจะเชื่อมโยงน้อยไป และเน้นราคาพลังงานมากเกินไป”

ดังนั้น แนวทางข้อเสนอของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ก็คือการขอให้ภาครัฐเปิดทางให้เอกชนกับเอกชนซื้อขายไฟฟ้า peer to peer ผ่าน digital trading platform ได้ ซึ่ง prosumer team ร่วมกันศึกษาโครงการโมเดล 4 แซนด์บอกซ์ โดยมีบริษัท อาทิ EA, SCG, CPN, อสังหาริมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการวางระบบใหม่ ๆ

ขณะที่ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เห็นว่า พลังงานโลกสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแน่นอนคือ แบตเตอรี่ “แม้ต้นทุนสูง แต่ภาครัฐต้องจูงใจด้านภาษี” จะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุน ต้องสร้าง ecosystem โดยตั้งเป้าจากการที่ประเทศไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีประจุไฟฟ้าให้ได้

ส่วน นายชัพมนต์ จันทรพงศ์พันธ์ เลขาธิการกลุ่มพลังงานหมุนเวียน กล่าวถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นประโยชน์มีมูลค่าล้อไปกับเทคโนโลยี ซึ่งจากการปรับ PDP 2018 มีการเพิ่ม renewable ให้ กฟผ.เข้ามาได้ในข้อนี้รัฐบาลต้องเปิดทางให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น 100% ด้วยการเปิด peer to peer พลังงานแสงอาทิตย์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องสร้างการรับรู้ประชาชนในเรื่อง “โซลาร์รูฟบ้านเรือน” มีราคาการรับซื้อที่ชี้ชวนและรัฐบาลต้องจริงจังเหมือนโซลาร์รูฟของรัฐบาลเวียดนาม สอดคล้องกับ นายอัครินทร์ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมกังหันลม(แห่งประเทศไทย) มองว่า นโยบายของไทยยังไม่มีความชัดเจนในการรับซื้อพลังงานลม

มาแรงขอไฟฟ้าขยะ 1,700 MW

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล กล่าวว่า นโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนปัจจุบันยังมี “ข้อจำกัด” มาก ซึ่งจะต้องมีกฎหมายรองรับและปรับแก้ไขผังเมือง เพราะบางพื้นที่เคยทำโรงไฟฟ้าได้ แต่กลับทำไม่ได้ รัฐต้องยกเว้นใบ รง.4 เป็นกรณีพิเศษ และเน้นใช้จากเศษวัสดุทางการเกษตรที่ไม่เป็นเชิงพาณิชย์มาก่อน เช่น ซังข้าวโพด ใบอ้อย ฟางข้าว แต่หากอนาคตมีโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะยิ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนมีรายได้จากส่วนแบ่งการขายไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีเงินทุนหมุนเวียน 100,000 ล้านบาทต่อปี

ด้าน นายทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่า ท้ายที่สุด ส.อ.ท.ต้องการเสนอให้กระทรวงพลังงาน ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP ใหม่ โดยเริ่มจากการให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 MW จากตามแผนฉบับปัจจุบันที่เปิดรับซื้อประมาณ 900 MW ขณะที่ขยะล้นประเทศกว่า 27 ล้านตันต่อปี ถ้าหากคิดเป็นมูลค่าก๊าซธรรมชาติ 29,906 ล้านบาท จากเดิมภายใต้แผน PDP อยู่ที่ 15,860 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะเรกูเลเตอร์ ให้ความเห็นว่า ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และ กกพ.เองต้องมองภาพรวมทั้งระบบ

ส่วนข้อเสนอให้เพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 MW นั้น “เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น” และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาระในท้ายที่สุด ซึ่งต้องมาพิจารณาให้รอบด้าน