ชี้แบนสารเคมีสูญ 2 ล้านล้าน ส.อ.ท.วอนรัฐทบทวนอย่าใช้ 2 มาตรฐาน

ส.อ.ท.ระดมสมองเอกชน-เกษตรกร วอนรัฐทบทวนมติแบน 3 สารเคมี หลัง 3 เดือนจากคำสั่งวุ่นกระทบอุตสาหกรรมเคมี-อุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2 ล้านล้านบาท แถมผู้ค้าต่างจังหวัดแอบแบ่งพาราควอตขายหนีโทษ โวยรัฐปฏิบัติ 2 มาตรฐานแบนในไทยกลับให้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ด้านนักวิชาการแนะ6 ข้อปฏิบัติใช้ยาปราบศัตรูพืช

นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ และกรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานเสวนา “เคมี พระเอกหรือผู้ร้าย” ว่า นับตั้งแต่มีการสั่งแบน 2 สารเคมี(พาราควอต คลอร์ไพริฟอส) และจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นคือกระทบต่ออุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องถึง 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวเป็นต้นน้ำของหลาย ๆ อุตสาหกรรม ทั้งยา เกษตร ปิโตรเคมี อาหาร เป็นต้น ซึ่งในปี 2562 จากข้อมูลระบุว่า ไทยยังคงมีการส่งออกสารเคมีมูลค่า 102,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ และมีการนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปโภค/บริโภค มูลค่า 480,000 ล้านบาทเป็นอันดับ 4 ของสินค้านำเข้าไทย

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเวลา 90 วัน ให้เกษตรกรนำสารพาราควอตส่งคืนภายในวันที่ 29 ส.ค.2563 ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าเกษตรกร และร้านค้าจำหน่ายที่ครอบคลุม 2 สาร อยู่ในขณะนี้ต้องนำส่งเพื่อทำลาย มีความกังวลถึงการมีค่าใช้จ่ายการกำจัด 100,000 บาท ที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และขณะนี้มีเพียง บริษัท อัคคีปราการ จำกัด แห่งเดียวเท่านั้น ที่รับกำจัดได้ถูกระบบ ผลที่ตามมาคือพบว่ามีการลักลอบใช้และขายกัน

“มีการพูดถึงสารกลูโฟซิเนตที่จะเป็นสารทดแทนพาราควอต แต่ทางกรมวิชาการเกษตรยังไม่มีการประกาศอย่างชัดเจน และกลูโฟซิเนตเองก็ยังพบว่ามีส่วนผสมของพาราควอตอยู่ดีดังนั้น หากรัฐจะให้เลิกใช้สารเคมีก็ไม่ควรใช้สารเคมีมาเป็นตัวทดแทนอีก รัฐเองควรวางศักดิ์ศรีอื่นไว้ แล้วทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ”

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ล่าสุดมีการรายงานพบว่าในพื้นที่ จ.นครปฐม มีการแบ่งพาราควอตใส่ขวดอื่น โดยระบุว่าเป็นฮอร์โมนเพื่อระบายพาราควอตให้หมด เนื่องจากกังวลว่าจะได้รับโทษเพราะยังมีเหลือครอบครองอยู่ โดยกฎหมายจะเอาผิดด้วยการปรับสูงถึง 1 ล้านบาท จำคุก 10 ปี สมาคมจึงเสนอขอทบทวนมติการแบนพาราควอต เป็นที่น่าสังเกตว่าขั้นตอนการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต ไม่ใช่ขั้นตอนปกติของกรมวิชาการเกษตร นอกจากการแบนสารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทน ที่มีคุณสมบัติประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับพาราควอต ไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอตและไกลโฟเซต ยกตัวอย่าง

ขั้นตอนการแบนสารในสหภาพยุโรป เช่น สารกำจัดวัชพืชกลูโฟซิเนต ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ระบบสืบพันธุ์และการเจริญของทารกผิดปกติ และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกการใช้ในปี 2561 ซึ่งกระบวนการใช้เวลานานถึง 13 ปี ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวที่จะหาวิธีการหรือสารทดแทน และ phase out สินค้าออกจากตลาดแต่ในขณะที่ไทยกลับผ่อนผันให้ภาคอุตสาหกรรมนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราควอต และมีค่าตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน CODEXไปจนถึง 1 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ทำให้เกิดคำถาม

สำหรับผู้บริโภคว่า พาราควอตตกค้างนิดเดียวก็อันตรายตามที่รัฐสั่งแบนแต่ทำไมยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารที่ปนเปื้อนพาราควอตมาให้คนไทยบริโภครัฐควรมีการผ่อนผัน และควรตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก 2 ฝ่าย เพื่อร่วมกันทบทวนหลักฐานที่ใช้ประกอบการแบนพาราควอตว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้งและความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำวิชาชีววิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้สารเคมีซึ่งจะเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายนั้น ต้องดูที่ 2 ส่วน คือ 1.ปริมาณการใช้ 2.ความเข้มข้นของสาร และสิ่งสำคัญคือ ต้องมีมาตรฐานการใช้เพื่อบอกว่าในพื้นที่มีการฉีดพ่นสารเคมีอะไรบ้าง ส่วนวิธีการใช้ยาปราบศัตรูพืชให้เหมาะสม คือ 1.รัฐควรต้องมีกฎหมายควบคุมที่เข้มงวดตั้งแต่เรื่องของการจัดจำหน่าย การซื้อ การติดฉลาก

2.เกษตรกรที่จะใช้ยาปราบศัตรูพืช ควรต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษเพื่อให้ใช้อย่างปลอดภัย

3.ยาปราบศัตรูพืชบางชนิดที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ ควรที่จะให้เกษตรกรที่มีใบอนุญาตเท่านั้นถึงจะใช้ได้

4.คนที่ฉีดพ่นยาปราบศัตรูพืชนั้น จะต้องใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันให้ถูกต้องเหมาะสม

5.ควรที่จะมีการติดป้ายเตือนว่าเรือกสวนไร่นาแปลงใด ได้ถูกฉีดพ่นยาลงไปด้วย

6.ภาชนะบรรจุยาปราบศัตรูพืชที่ใช้หมดแล้ว ก็ต้องถูกนำไปทำลายทิ้งอย่างปลอดภัย

“สารเคมีอยู่กับเรามาตลอด มันอยู่ที่ปริมาณการใช้ อย่างน้ำเปล่าทั้งที่เรารู้ว่าน้ำคือมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าเราดื่ม 6 ลิตรภายในเวลา 1 ชั่วโมง ก็มีสิทธิตายเหมือนกัน เพราะเรารับน้ำมากเกินไปก็เช่นเดียวกับสารเคมีอื่น ๆ ถ้าใช้ในปริมาณที่พอดีมันก็เกิดประโยชน์”