ชงครม.สัญจรภูเก็ตพักหนี้ 3 ปี ดันตั้งเขตศก.พิเศษท่องเที่ยวโมเดล EEC

Nai Yang Beach is located in Sirinat National Park, Phuket

ภาคเอกชนเตรียมชง ครม.สัญจรภูเก็ต 2 พ.ย.นี้ ชงแก้ปัญหาเร่งด่วนขอพักหนี้ 3 ปี วงเงินซอฟต์โลนสำหรับฟื้นฟูกิจการ พร้อมดัน 7 ยุทธศาสตร์ PHUKET GEMMSST หารายได้อื่นเสริมท่องเที่ยวระยะยาว แถมด้วยแผนระยะยาว ขอตั้งเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว” ลักษณะคล้าย พ.ร.บ.EEC ปลดล็อกข้อกฎหมายของหลายหน่วยงาน

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2563 ทางภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ตได้เตรียมนำเสนอแผนการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ แผนระยะสั้น ที่ประชุมมีแนวคิดต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนที่ว่างงาน ผู้ประกอบการที่ยังมีภาระไม่มีเงินชำระหนี้ ใน 2 เรื่อง

1.ขอให้รัฐบาลขยายเวลาการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจที่จะครบ 6 เดือน หรือสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ออกไปอีก 3 ปี รวมถึงลดดอกเบี้ยให้ระหว่างการพักหนี้เหลือ 2% เหมือนกับโมเดลการช่วยเหลือครั้งเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยเวลาสั้น แต่ใช้เวลายาวนาน 2-3 ปีแน่นอน

2.ขอให้สนับสนุนวงเงินซอฟต์โลนสำหรับฟื้นฟูกิจการผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ประสบภัยโควิด-19 โดยใช้วงเงินซอฟต์โลนเดิมที่รัฐบาลมีอยู่แล้ว คือ วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) จำนวน 500,000 ล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค้ำประกัน 2 ปี ซึ่งยังมีเงินเหลืออยู่ และวงเงิน 4 แสนล้านบาทเดิมที่ใช้สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เงิน 2 ก้อนนี้ประมาณ 9 แสนล้านบาท นำมาเป็นวงเงินซอฟต์โลนสำหรับการขยายงานและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ

“การระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจประสบ ไม่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาด หากย้อนกลับไปดูตอนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ปี 2547 จังหวัดภูเก็ตมีรายได้ประมาณ 90,000 กว่าล้านบาท พอพักชำระหนี้ไป 3 ปี แบงก์ลดดอกเบี้ยให้ 2% ผ่านไป 15 ปี มาถึงปี 2562 ภูเก็ตสร้างรายได้เพิ่มถึง 470,000 ล้านบาท หลักทรัพย์มีราคาแพงสูงขึ้นคุ้มมูลหนี้ ถ้าไม่ทำตามโมเดลนี้จะถูกแบงก์ตามยึด ฟ้องร้องขึ้นศาลเต็มไปหมด เสียเวลาเปล่า ๆ เพราะทุกคนไม่มีใครปล่อยให้ถูกยึดกิจการอยู่แล้ว ถ้าให้พักหนี้ต่อถึงเวลา 3 ปีค่อยมาเจรจาประนอมหนี้กัน ผมว่ารัฐบาลต้องกล้าใช้โมเดลสึนามิมาใช้กับจังหวัดที่มีธุรกิจท่องเที่ยวที่มีปัญหา”

สำหรับแผนระยะกลาง คือ ขอให้สนับสนุน 7 ยุทธศาสตร์ ให้ภูเก็ตมีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากการท่องเที่ยวสามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ เป็นการสร้างภูมิต้านทานทางระบบเศรษฐกิจและสังคมสำหรับจังหวัดภูเก็ตในอนาคต โดยได้สร้างสรรค์ 7 ยุทธศาสตร์ PHUKET GEMMSST ให้ต่างชาติอยู่ในภูเก็ตได้นานขึ้น ประกอบด้วย

1.ด้านอาหารท้องถิ่นภูเก็ต หรือ gastronomy 2.education 3.medical & wellness 4.อุตสาหกรรมมารีน่า (marina) 5.sports and events 6.smart city และ 7.อุตสาหกรรมทูน่า (tuna) ส่วนแผนระยะยาวของภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต คือ “การบริหารจัดการภูเก็ตแบบพิเศษ” ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวเชิญพร กาญจนสายะ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการหารือกันของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตมีเรื่องหลักเตรียมนำเสนอ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจมารีน่าขอให้รัฐบาลอนุมัติเปิดน่านน้ำ เพื่อให้กลุ่มเรือซูเปอร์ยอชต์ และเรือยอชต์ของต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาได้ โดยเจ้าของเรือ และคนประจำเรือต้องเข้าสู่สถานกักตัวทางเลือก (ALSQ) 14 วัน ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นในการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตมีกองทัพเรือภาค 3 ตำรวจน้ำทางทะเลที่จะวิ่งตรวจการณ์ควบคุมเรือเหล่านี้ได้

2.ขอจัดทำร่างผังเมืองชุดใหม่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากร่างผังเมืองชุดเก่ามีปัญหามากถูกร่างขึ้นมาโดยที่ไม่มีความเกี่ยวโยงใด ๆ กับการพัฒนาเติบโตของจังหวัดภูเก็ต ตอนนี้ได้ล้มเลิกร่างผังเมืองชุดเก่าไปแล้ว

3.ขอจัดตั้งจังหวัดภูเก็ตเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว” ลักษณะคล้ายกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัดที่มี พ.ร.บ.เฉพาะขึ้นมา เพื่อปลดล็อกข้อกฎหมายต่าง ๆ ของหลายหน่วยงานที่ติดขัด ไม่เอื้ออำนวยในการเติบโตและพัฒนาจังหวัด เช่น ธุรกิจมารีน่าติดล็อกข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ถึง 17 หน่วยงาน จึงต้องการแก้ไข รวมทั้งด้านคมนาคมมีถนนเส้นคู่ขนานถนนเทพกระษัตรีเส้นหลัก ระยะทาง 22 กม. ขอสร้างมา 10 ปี แต่ทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตัดผ่านพื้นที่ป่า 1.2 กม. เป็นต้น