กางแผนเจรจาการค้า ปี 64 รุกเดินหน้าเปิด FTA สำคัญ อียู-อังกฤษ-สหรัฐ

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนการทำงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 เน้นรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ เดินหน้าเตรียมการฟื้นเจรจา FTA กับอียูและเอฟต้า และเปิดเจรจา FTA ใหม่ พร้อมผลักดันลงนาม RCEP พ.ย. นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการทำงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปี 2564 ตามนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายให้เร่งรัดการเจรจา FTA ที่ค้างท่อ ตลอดจนรักษาตลาดเดิม และขยายตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยกำหนดแผนงานสำคัญ

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ทั้งนี้ ได้แก่ การลงนามและเร่งรัดการบังคับใช้ความตกลง RCEP การเตรียมการฟื้นหรือเปิดเจรจา FTA การเร่งรัดการเจรจาที่คงค้าง ยกระดับและปรับปรุง FTA กรอบอาเซียน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

สำหรับการลงนามและเร่งรัดการบังคับใช้ความตกลง RCEP ไทยจะร่วมกับสมาชิก RCEP ผลักดันให้มีการลงนามความตกลงฯ ในเดือน พ.ย. 2563 และจะเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้ไทยสามารถให้สัตยาบันได้ในปี 2564 อีกทั้ง กรมฯ มีแผนเตรียมการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) โดยได้มอบสถาบันวิจัยศึกษาประโยชน์และผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ปลายเดือน ต.ค. 2563

พร้อมเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องความพร้อมและท่าทีการเจรจาของไทย ตั้งเป้าเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเดือน ธ.ค. นี้ และเตรียมการฟื้นเจรจา FTA ไทย – สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงต้นปีหน้า และจะเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องความพร้อมและการเตรียมการของไทย

นางอรมนกล่าวอีกว่า กรมฯ ยังมีแผนเตรียมการสำหรับการเจรจา FTA กับประเทศและกลุ่มประเทศหลักๆ ได้แก่ FTA ไทย-สหราชอาณาจักร (UK) ซึ่งคาดว่าการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงต้นปี 2564 และจะเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือเบื้องต้นกับ UK เพื่อรวบรวมข้อสรุปเสนอระดับนโยบายต่อไป สำหรับ FTA ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบเช่นกัน คาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงปลายปี 2564 ขณะเดียวกันจะรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหารือกับ EAEU เพื่อรวบรวมข้อสรุปเสนอระดับนโยบายต่อไป

นอกจากนี้ จะหารือความเป็นไปได้เรื่องการเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา เดือน ม.ค. 2564 เพื่อนำไปสู่การจัดทำเอกสารระบุขอบเขต ความคาดหวัง และข้อบทที่คาดว่าจะบรรจุไว้ในความตกลง FTA เพื่อเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา พิจารณาในเดือน ส.ค. 2564 ว่าจะเปิดการเจรจาหรือไม่

ทั้งนี้ ยังเร่งรัดการเจรจา FTA ที่คงค้างอยู่ 3 ฉบับ ที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ให้คืบหน้าและได้ข้อสรุป พร้อมยกระดับและปรับปรุงความตกลง FTA กรอบอาเซียน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-อินเดีย FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาด และยกระดับความตกลงข้อบทต่างๆ ให้ทันสมัย สอดรับกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

กรมฯ ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียประโยชน์ และได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า จึงได้มอบสถาบันวิจัยศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร และจัดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบมาเป็นระยะ

โดยตั้งเป้าจะเสนอรายละเอียดการขอจัดตั้งกองทุนต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในปลายปี 2563 เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาต่อไป

สำหรับการประชุมระดับทวิภาคี และการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่างๆ มีแผนจะประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) กับประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน อาทิ กัมพูชา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เอเชีย อาทิ จีน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และภูฏาน และภูมิภาคอื่นๆ เช่น รัสเซีย สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และสหราชอาณาจักร เป็นต้น ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะจัดในรูปแบบการประชุมทางไกล

สำหรับความคืบหน้า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ โดยขณะนี้ ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเป็นที่เรียบร้อยดมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 โดยอยู่ระหว่างนำผลศึกษาเข้าสู่การประชุมวุฒิสภาพิจารณาในเร็วนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2562 มูลค่าการค้าของไทยกับ 18 ประเทศ อยู่ที่ 302,991 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วน 62.8% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก สำหรับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.- ส.ค.) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่า 179,550.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 62.3% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกมูลค่า 92,866.9 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้ามูลค่า 86,683.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น