‘ทรัมป์’ หวดไทยทิ้งท้าย ตัด GSP ไปแล้ว 804 รายการ

REUTERS/Carlos Barria

ในที่สุด ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร หรือ GSP ที่สหรัฐ “ให้เปล่า” กับประเทศไทยเป็นการเพิ่มเติม จำนวน 231 รายการ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท (มีผล 30 ธันวาคม 2563) จากข้อกล่าวหาสำคัญตามที่ “ทรัมป์” แถลงก็คือ 1) ประเทศไทยไม่ยอมที่จะเปิดตลาดสินค้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ให้กับสหรัฐ 2) ประเทศไทยยังไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ “ยอมรับ” ของนานาชาติ ซึ่งจัดเป็นเงื่อนไขสำคัญ 2 ใน 6 ข้อที่สหรัฐกำหนดไว้ในเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศผู้ได้รับสิทธิพิเศษ GSP จะต้องปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP จากข้อกล่าวหาข้างต้นครั้งนี้ “ไม่ใช่ครั้งแรก” แต่เป็นการตัดสิทธิพิเศษ “เพิ่มเติม” มาจากกรณีที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งในครั้งนั้น “ทรัมป์” ได้ออกแถลงการณ์ประธานาธิบดี (President Protamation) ระงับสิทธิพิเศษ GSP ไทย จำนวน 573 รายการ เป็น “การชั่วคราว” มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมานี้ จากข้อกล่าวหาเดียวกัน โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ให้เหตุผลของการถูกทบทวน GSP ในครั้งนั้น 2 ประการ คือ การเปิดตลาด (market access) กรณีไทยไม่เปิดให้นำเข้าหมูจากสหรัฐ กับประเด็นสิทธิแรงงาน (worker rights) ของสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐ (AFL-CIO) เช่นกัน

ถูกตัดแต้มต่อในการแข่งขัน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าที่ถูกตัดสิทธิจำนวน 231 รายการนั้น ประเทศไทยใช้สิทธิไปแค่ 147 รายการ คิดเป็นมูลค่าที่จะต้องกลับไปเสียภาษีในอัตราปกติ ประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์, พวงมาลัยรถยนต์, กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก, เคมีภัณฑ์, เกลือฟลูออรีน, ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก, หีบกล่องทำจากไม้, ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ และอะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง

ซึ่งกล่าวเหมือนกับตอนที่ถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP เป็นการชั่วคราวในเดือนตุลาคม 2562 จำนวน 573 รายการและไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถส่งออกสินค้ารายการที่ถูกตัดสิทธิพิเศษที่มีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท เพียงแต่ว่าสินค้าเหล่านั้นจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN rate) ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าที่จะต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1,800 ล้านบาทเท่านั้น แต่ไม่ได้
พูดถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยที่จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติกับสินค้าในกลุ่มเดียวกันที่ส่งออกจากประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐเหมือนเดิม

GSP

เจรจาสหรัฐล้มเหลว

ประเด็นปัญหาในเรื่องสิทธิแรงงาน กับการไม่ยอมเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูให้กับสหรัฐ แทบจะไม่มีหน่วยงานใดของรัฐบาลไทยออกมาให้ความกระจ่าง ทั้ง ๆ ที่เป็นข้อเรียกร้องของสหรัฐมาอย่างเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เพียงแต่ครั้งนั้น สหรัฐ “อาจจะ” ชั่งน้ำหนักระหว่างข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยที่ “สอบตก” เงื่อนไขการได้รับสิทธิพิเศษ GSP ไปแล้ว กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมไปถึงนโยบายทางการค้าของพรรคเดโมแครตที่ค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่ารีพับลิกันในสมัยของ “ทรัมป์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมของสหรัฐ ในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ก่อนที่จะถูก “ทรัมป์” ฉีกทิ้งในอีก 4 ปีให้หลัง

เมื่อประมวลเหตุผลข้างต้นก็จะพบข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอด 6 ปี ของรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อคณะผู้แทนไทยพบกับคณะผู้แทนสหรัฐ ไม่ว่าจะกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ (TIFA-JC) หรือการเข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสต่าง ๆ ประเด็นในเรื่องของสิทธิแรงงาน กับการเปิดตลาดให้กับเนื้อหมูสหรัฐ ไม่เคยห่างหายไปจากการปรึกษาหารือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP เป็นการชั่วคราวในเดือนตุลาคมปี 2562 ไทยได้ส่งคณะเพื่อเจรจากับสหรัฐอย่างน้อย 1-2 ครั้งไปแล้ว

แน่นอนว่าการหารือเพื่อแก้ข้อกล่าวหาในเรื่องของสิทธิแรงงาน และการเปิดตลาดหมู ในสายตาของสหรัฐถือว่า “ล้มเหลว” แน่นอน เมื่อสะท้อนจากคำประกาศตัดสิทธิพิเศษ GSP สินค้าไทยจำนวน 231 รายการในครั้งนี้ จากประเด็นที่ไม่มีความคืบหน้าทั้งในเรื่องของการตั้ง “สหภาพแรงงานของคนต่างด้าว” และการเจรจาต่อรองของแรงงานต่างด้าวที่จะมีสิทธิเหนือกว่าแรงงานไทย

ในขณะที่การเปิดตลาดให้มีการนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐ ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย ในข้อที่ว่า หมูจากสหรัฐมีการใช้ “สารเร่งเนื้อแดง” ซึ่งประเทศไทยห้ามใช้ โดยยกเหตุผลในเรื่องของสุขอนามัยและความปลอดภัยมาอ้างกับสหรัฐ จากข้อเท็จจริงที่ว่า หมูสหรัฐที่มีต้นทุน “ต่ำกว่า” ไทยครึ่งหนึ่ง หรือ กก.ละ 30 บาท จะเข้ามาแข่งกับหมูไทยที่มีต้นทุน กก.ละ 60 บาท

ดูเหมือนว่าในการเจรจากับสหรัฐเท่าที่ผ่านมา จะมีอยู่ประเด็นเดียวที่ฝ่ายไทย “ยอม” ให้กับสหรัฐ นั่นก็คือการ “ทบทวน” ให้ใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงอย่าง “ไกลโฟเซต” กลับมาใช้ได้อีก ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ ทั้ง ๆ ที่สารเคมีตัวนี้ถูก “แบน” ไปแล้ว โดยเรื่องนี้จัดเป็นประเด็น “แอบแฝง” ในการเจรจาที่สหรัฐแสดงท่าทีต้องการให้ฝ่ายไทยมีการทบทวนในเรื่องนี้

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การกลับมาของสารเคมีอันตรายอย่าง “ไกลโฟเซต” กลับไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ “ผ่อนคลาย” ข้อพิจารณาในเรื่องของการให้สิทธิพิเศษ GSP แก่ประเทศไทย มิหนำซ้ำ “ทรัมป์” กลับใช้โอกาสสุดท้ายในตำแหน่งประธานาธิบดี “หวด” ไทยหนักขึ้นไปอีก ด้วยการตัดสิทธิพิเศษ GSP ที่ให้แก่ไทยเป็นการ “เพิ่มเติม” จากเดือนเมษายนที่ผ่านมาอีก 271 รายการ รวมเป็น 804 รายการ หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนรายการที่สหรัฐให้สิทธิกับไทยทั้งหมด