ซีพี-เทสโก้โลตัส ผงาดเบอร์ 1 ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หวั่นเสียเปรียบอำนาจต่อรอง

ซีพี ควบรวมเทสโก้

บอร์ดแข่งขันการค้าไฟเขียว ซี.พี.ซื้อเทสโก้ โลตัส 3.38 แสนล้าน ระบุไม่ผูกขาด เพิ่ม 7 เงื่อนไข ห้ามควบรวมกิจการค้าปลีกเพิ่มภายใน 3 ปี เปิดช่องสยายปีกลงทุนอีคอมเมิร์ช ดันอาณาจักร ซี.พี.ของเจ้าสัว “ธนินท์” มีโมเดลค้าปลีกครบวงจร คาดส่ง “นริศ ธรรมเกื้อกูล” นั่งคุม ซัพพลายเออร์-ยี่ปั๊วซาปั๊วรับมืออุตลุด หวั่นเสียเปรียบอำนาจต่อรอง

การซื้อหุ้น บจ.เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) ที่ถือหุ้นใหญ่ใน บจ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม ผู้บริหารห้าง “เทสโก้ โลตัส” โดย บจ.ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ซึ่งถือเป็นดีลยักษ์แห่งปี โดยกลุ่ม ซี.พี.ยอมทุ่มเงิน 3.38 แสนล้านบาท ลุยธุรกิจค้าปลีกครบวงจร ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 ได้รับไฟเขียวเป็นทางการแล้ว

ล่าสุดวันที่ 6 พ.ย. 2563 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุมัติให้กลุ่ม ซี.พี.ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส โดยกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติ 7 ข้อ

ชี้ไม่ผูกขาด-ไม่เสียหายต่อเศรษฐกิจ

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้พิจารณาการขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง บจ.ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ และ บจ.เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย)

โดยกรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก มีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวจำเป็นตามควรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดหลังการรวมธุรกิจ

เปิด 7 เงื่อนไขให้ควบรวม

จึงมีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง บจ.ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ และ บจ.เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) โดยกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ปฏิบัติ ดังนี้

(1) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็น หน่วยธุรกิจเดียวกัน กระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค 3 ปี ไม่รวมตลาดอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)

(2) ให้ บมจ.ซีพี ออลล์ และ บจ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม เพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้า SMEs ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร ชุมชน วิสาหกิจชุมชน หรือโอท็อป 10% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี

(3) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด ฯลฯ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า

(4) ให้ บจ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม คงเงื่อนไขสัญญาและข้อตกลงระหว่างผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิม ไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี เว้นแต่เปลี่ยนแปลงสัญญาเป็นคุณต่อผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์

(5) ให้ บมจ.ซีพี ออลล์ บจ.เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม กำหนดเวลาให้สินเชื่อการค้า (credit term) 30-45 วันทกับซัพพลายเออร์ เป็นระยะเวลา 3 ปี อาทิ สินค้าเกษตร 30 วัน สินค้าอื่น ๆ ไม่เกิน 45 วัน

(6) ให้ 2 บริษัทรายงานผลประกอบการรายไตรมาสกับ กขค.เป็นเวลา 3 ปี

(7) ให้กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (code of conduct) เผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ตลอดจนประกาศของ กขค.

ยันไม่ผูกขาด

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการควบรวมกิจการ ทำให้จำนวนผู้ค้า (เพลเยอร์) ในตลาดค้าปลีกลดลงก็จริง หากแยกเฉพาะในส่วนของคอนวีเนี่ยนสโตร์ จริงอยู่ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขามากที่สุด แต่ร้านประเภทนี้มีผู้ประกอบการหลายรายมาก ทั้งแฟมิลี่มาร์ท ลอว์สัน ซีเจมาร์ท ทั้งยังมีร้านค้าท้องถิ่นอีก 5-7 แสนร้านค้า ส่วนร้านซีพีเฟรชมาร์ท มีสาขาแค่ 300 สาขา ถือว่าน้อยมาก

“ถ้าถามเราจะได้เปรียบคนอื่นเพราะกลุ่ม ซี.พี. จะมีทั้งห้างแม็คโคร โลตัส เซเว่นฯ ซีพีเฟรชมาร์ท หรือไม่ ผมว่า ถ้าคนจะมองอย่างนั้นก็ย่อมได้ แต่ต้องมองด้วยว่าค้าปลีกแต่ละประเภทก็มีหน้าที่ของตัวเอง แต่ละประเภทมีกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่”

อย่างไรก็ตาม จะทำให้มีโอกาสขายสินค้าผ่านสาขาเทสโก้ในไทย และมาเลเซีย (ในไทย ร้านสะดวกซื้อ 1.3 หมื่นสาขา ค้าส่ง 94 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 431 สาขา และในต่างประเทศ 76 สาขา) ส่วนการขายสินค้าเข้าสาขาที่อังกฤษนั้นสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ดีลนี้เปรียบเสมือนการลงทุนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ซึ่งหวังว่าจะมีสินค้าบางอย่างจากเมืองไทยไปขายที่มาเลเซียได้มากขึ้น

ไม่แกล้งซัพพลายเออร์แน่

สำหรับประเด็นที่ว่าสินค้าปศุสัตว์ที่ซีพีเอฟผลิตจะมีโอกาสได้เปรียบผู้ผลิตปศุสัตว์รายอื่นนั้น ขอยกตัวอย่างกรณีที่ ซี.พี.ซื้อแม็คโครก่อนหน้านี้ สินค้าของผู้ผลิตรายอื่นก็ยังมีวางขายในแม็คโคร แถมสินค้าบางรายการของผู้ผลิตอื่นมียอดขายมากกว่าซีพีเอฟ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเป้าหมายของค้าปลีกต้องสร้างความหลากหลายให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้

“ดีลนี้เราขายได้มากขึ้นหรือไม่ ขอบอกว่าเราขายได้เยอะอยู่แล้วในเทสโก้ เช่น สินค้าไส้กรอง มีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% ทั้งที่ยังไม่ได้ควบรวม แต่แน่นอนว่าหลังควบรวมน่าจะเอื้อให้บริษัทในกลุ่มเดียวกันมากขึ้น การประชุมร่วมกันคงสะดวกขึ้น”

แยกรายได้ชัดเจน เห็นผลปี’64

นายประสิทธิ์กล่าวว่า หากการควบรวมสำเร็จในไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะเห็นภาพการดำเนินงานชัดเจนต้นปีหน้า แต่รายได้ที่จะเกิดขึ้นหลังควบรวมจะไม่ถูกนำมารวมกับรายได้ของซีพีเอฟ เพราะถือหุ้นสัดส่วน 20% ตามกฎหมาย ถ้าไม่เกิน 25% จะไม่นับมารวม

ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุน 3.38 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนใน บจ.เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) และ บจ.เทสโก้ สโตร์ส (มาเลเซีย) โดยผ่าน บจ.ซี.พี. รีเทลโฮลดิ้ง ทุนจดทะเบียน 2.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการถือหุ้นโดย ซีพี ออลล์ 40% เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง 40% และ ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง หรือซีพีเอฟ ถืออีก 20%

หนุนค้าปลีก ซี.พี.สุดแกร่ง

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกขนาดกลางรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกของ ซี.พี. ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น มีร้านค้าหลากหลายโมเดลมากขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจค้าส่ง cash&carry (แม็คโคร) จากนี้ไปก็จะมีไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ที่เป็นร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนหนึ่งด้วย ขณะเดียวกันจะทำให้เซเว่นอีเลฟเว่น มีธุรกิจให้เช่าพื้นที่พ่วงเข้ามาอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ซีพี หลากหลายทั้งอาหารสด ไม่ว่าจะเป็น หมู เป็ด ไก่ ไข่ กุ้ง ฯลฯ อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน ได้ประโยชน์จากการวางสินค้าอาหารผ่านเครือข่ายเทสโก้ฯมากขึ้น นอกเหนือจากช่องทางที่มีอยู่เดิม

นอกจากนี้ มองระยะยาว ดีลนี้จะได้ส่งผลดีกับการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม ซี.พี. ทั้งในแง่ของการลดต้นทุน และการทำงาน หรือการประสานประโยชน์ร่วมกัน (synergy) และจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม ซี.พี.ให้มีความแข็งแกร่ง ทั้งในแง่การมีรูปแบบห้างค้าปลีกที่ครบวงจร มีส่วนแบ่งตลาดทุกรูปแบบ เป็นอันดับ 1 ของประเทศ

ด้วยจำนวนสาขาที่มีมากกว่า 14,000 สาขา และมีส่วนแบ่งตลาดห้างโมเดิร์นเทรดรวมมากกว่า 40% จากเดิมที่มีประมาณ 30% รวมทั้งมีสาขาในต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 75-76 สาขา จากเดิม 7 สาขา โดยเฉพาะในมาเลเซีย จากเดิมที่มีสาขาในกัมพูชา, เมียนมา, จีน และอินเดีย ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นแม็คโคร ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนสาขาของร้านที่เป็นโมเดลร้านสะดวกซื้อของเซเว่นอีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ที่มีการเปิดสาขาในพื้นที่ทับซ้อนกันเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นกลุ่ม ซี.พี.อาจพิจารณายุบหรือควบรวมสาขาลงจำนวนหนึ่้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดต้นทุน” แหล่งข่าวกล่าว

ซัพพลายเออร์-ยี่ปั๊วซาปั๊วฝุ่นตลบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนในวงการค้าปลีกโดยเฉพาะซัพพลายเออร์ และผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในต่างจังหวัด ต่างให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่ม ซี.พี. และเทสโก้ โลตัส อย่างใกล้ชิด

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าขนาดกลางรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แวดวงซัพพลายเออร์ค่อนข้างตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากมองว่าการควบรวมดังกล่าวจะทำให้กลุ่มค้าปลีก ซี.พี.มีอำนาจการต่อรองทางการค้ามากขึ้น

ขณะนี้หลายรายได้เตรียมตัวและหาแนวทางเพื่้อรับมือไว้ในระดับหนึ่ง โดยแนวทางหนึ่งที่ซัพพลายเออร์มองคล้าย ๆ กัน คือ การบาลานซ์พอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางที่เป็นเทรดิชั่นนอลเทรด ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบั

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในภาคอีสานกล่าวว่า จากอำนาจการต่อรองของกลุ่มค้าปลีก ซี.พี.ที่มีมากขึ้น รวมทั้งจำนวนสาขาที่มีครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการยี่ปั๊วซาปั๊ว และผู้ประกอบการค้าปลีกที่เป็นโลคอลต้องเร่งปรับตัวเช่นกัน รายเล็กคงไม่สามารถแข่งขันเรื่องราคาได้ เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อที่แตกต่างกัน รายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูงยิ่งสั่งมากเท่าไหร่ก็จะได้ราคาที่ถูกลงมากขึ้นเท่านั้น และนำมาทำราคาได้

ซี.พี.จัดทัพพร้อมลุย

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทในเครือ ซี.พี.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมการเพื่อเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส มาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องการหากู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมในเรื่องของบุคลากร การวางตัวคนที่จะเข้ามาดูแลบริหารเทสโก้ โลตัส

โดยในส่วนของผู้บริหารที่ถูกวางตัวไว้ คาดว่าจะเป็น ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานผู้บริหาร ทรัพยากรบุคคลเครือเจริญโภคภัณฑ์ และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเทลลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด นอกจากนี้ ในอดีตที่ผ่านมายังเคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ด้วย