RCEP ให้สัตยาบัน ปี’64 เอกชนพร้อมเปิดตลาดสินค้า 90%

จุรินทร์

ปิดฉากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 ด้วยการลงนาม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค “RCEP” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 2,252 ล้านคน คิดเป็น 30.2% ของประชากรโลก ยกเว้น “อินเดีย” ซึ่งมีประชากร 1,000 ล้านคน ขอถอนตัวจากการลงนามไปตั้งแต่ปี 2562

แน่นอนว่าความตกลงฉบับนี้จะมีผลต่อการค้าโลก ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจกลุ่ม RCEP รวมกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 817 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวม 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คาดว่าแต่ละประเทศต้องดำเนินการตามกระบวนการให้สัตยาบัน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประกาศความสำเร็จการเจรจา RCEP ว่า ไทยคาดหวังว่าจะนำ RCEP เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563 ที่มีการประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยหากรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบในการให้สัตยาบัน กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการออกหนังสือให้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำส่งต่อไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน

“ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ได้อย่างเป็นทางการเมื่อกลุ่มประเทศอาเซียน +6 ให้สัตยาบัน ร่วมกับประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 9 ประเทศจาก 15 ประเทศสมาชิก จะถือว่าข้อตกลงดังกล่าวหลังจากให้สัตยาบัน 60 วัน จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการคาดว่ากลางปี 2564”

ดึง “อินเดีย” เข้ากลุ่ม

อีกด้านหนึ่ง RCEP ยังต้องการดึงให้ “อินเดีย” หวนกลับเข้าร่วมกับ RCEP ให้ได้ เพื่อให้ครบทั้ง 16 ประเทศ โดยต้องยอมรับว่าอินเดียเป็นตลาดที่สำคัญ มีประชากรจำนวนมาก และมีเศรษฐกิจขยายตัวดี หากอินเดียเข้าร่วมจะเป็นผลดีกับประเทศสมาชิกทั้งหมด

สำหรับประเด็นค้างของอินเดีย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอินเดียยังไม่เคยทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีทวิภาคีกับสมาชิกกับ 3 ประเทศใน RCEP คือ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จึงต้องเจรจาหารือข้อสรุปกับอินเดียอีกครั้ง โดยเฉพาะการเปิดตลาด รวมถึงมาตรการดูแลปกป้องจากสินค้านำเข้า ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา อีกทั้งอินเดียยังกังวลประเด็นปัญหาการขาดดุลการค้า จึงเลือก “หยุด” การเจรจาไว้ก่อน

สินค้าเกษตร-อุตฯฉลุย

นายจุรินทร์มองว่า ข้อตกลง RCEP จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย อย่างน้อยเรื่องการลดภาษีสินค้าบริการและการลงทุน สินค้าประเทศไทยเรามีจุดแข็ง คือสินค้าเกษตร ทั้งมันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา สินค้าประมง สินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกตัว อาหารก็จะเป็นอีกหมวดที่เราได้รับประโยชน์เต็มที่

และสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย มอเตอร์ไซค์ และภาคบริการเชื่อว่าจะได้ผลประโยชน์จากข้อตกลงนี้

สอดคล้องกับ “นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์” นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า การเปิดตลาด RCEP จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลักดันการส่งออกของไทย ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

เชื่อว่าข้อตกลงนี้จะส่งเสริมให้ประเทศไทยขยับตำแหน่งขึ้นมาเป็นท็อป 10 ของโลกได้ จากปัจจุบันที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก เพราะสิ่งที่เห็นผลชัดเจนในความตกลงนี้คือ เรื่องความยืดหยุ่นของแหล่งกำเนิดสินค้าในประเทศสมาชิก ทำให้การค้าสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่จะทำอย่างไรที่จะเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ตลอดห่วงโซ่การผลิต พัฒนาสินค้าให้พร้อม และดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนได้

ขณะที่ นางวราภรณ์ มนัสรังษี ผู้บริหารและเจ้าของบริษัท เค-เฟรช จำกัด และบริษัท ออลโคโค กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เอสเอ็มอีไทยควรให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเมื่อเปิดตลาดแล้วจะมีการแข่งขัน สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวล คือ การปลอมหรือลอกเลียนแบบสินค้าที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น ไทยจะดูแลลดผลกระทบเรื่องนี้อย่างไร

ปรับกฎระเบียบภายในรับ RCEP

นายแพทย์พงศ์ธร เกียรติดํารงวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารโครงการโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การเปิดเสรีภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มบริการด้านสุขภาพ หรือโรงพยาบาล หลังจากข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการต้องหาช่องทางการให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการของเราให้ได้

สิ่งที่กังวล คือ กฎระเบียบหลายอย่างภายในประเทศยังเป็นอุปสรรคหลังการเปิดเสรี ยังมีเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรการจ้างงาน ซึ่งกฎระเบียบของไทยยังไม่เอื้อประโยชน์มากนัก ส่วนการนำเทคโนโลยีด้านการรักษาใหม่ ๆ เข้ามาใช้ยังมีต้นทุนสูง

การนำเข้ายาไทยยังต้องให้ความสำคัญกับข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานคุณภาพ แม้ไทยส่งเสริมการผลิตยา การลงทุนบริการทางการแพทย์แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกฎระเบียบที่ไม่อำนวย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับปรุง

เยียวยาผลกระทบ

ท้ายที่สุดประเด็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี โดยเฉพาะเรื่องการยกร่างกฎหมายกองทุนเอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางยกร่างกฎหมายกองทุนเอฟทีเอ เพื่อจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้

พร้อมกันนี้กรมอยู่ระหว่างปรับปรุงระบบติดตามสถานการณ์การค้า เพื่อรับทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการส่งออก-นำเข้า เช่น หลังจากลดภาษี 0% ในสินค้า 90-92% ของรายการสินค้าที่ค้าขายกันทั้งหมด ก็อาจจะมีการไหลเข้ามาของสินค้ามากระทบต่อผู้ผลิตภายใน ซึ่งตามความตกลงนี้ยังคงเว้นการลดภาษีสินค้าอ่อนไหว โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบยังสามารถใช้มาตรการเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศได้ เช่น มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี)


รวมไปถึงยังมีโครงการกองทุนเพื่อช่วยปรับโครงสร้างการผลิตรองรับการปรับตัวจากการเปิดเสรี (กองทุนเอฟทีเอ) ของกรมการค้าต่างประเทศ และของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะคอยให้การช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบในการปรับตัวด้วย