
สภาหอการค้าไทย เสนอ 3 มาตรการต่อนายกรัฐมนตรี ควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ

1.จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาว เพื่อให้เกิดแผนการทำงานร่วมกัน และสามารถระดมกำลังและทรัพยากรในการจัดการปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์ รวมถึงการสื่อสารและแถลงข่าวต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single message
2.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร อาทิ ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพร่วมมือให้มีการตรวจพนักงานผู้มีเชื้อทั้งรูปแบบการตรวจแบบ rapid test และ PCR กักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine จนกระทั่งมีภูมิต้านทาน ควรดูแลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัว เพื่อสังเกตอาการ ลดการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อซ้ำ
โดยภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการช่วยดูแลแรงงานของตนเอง และสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่เหมาะสม เช่น การลดหย่อนภาษีปลายปี
“โรงงานที่สมุทรสาครมีกว่า 11,500 โรงงาน โดยมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 4 แสนราย ขึ้นทะเบียนประกันสังคมประมาณ 1.8 แสนราย ส่วนผู้ที่อยู่ในประกันสังคมที่ขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 4 แสนราย เป็นคนไทยประมาณ 2 แสนกว่าราย และประมาณ 2.8 แสนรายไม่ได้อยู่ในประกันสังคม ซึ่งเป็นอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการไม่นำแรงงานเข้าไปอยู่ในระบบ กลุ่มนี้อาจจะไม่มีการตรวจ
ดังนั้น ต้องการให้หน่วยงานที่ดูแลเข้ามาคัดกรองตรวจสอบความเสี่ยงในกลุ่มนี้ด้วย พร้อมทั้งรายชื่อโรงพยาบาลที่อนุญาตให้มีการตรวจคัดกรอง และราคากลาง เพื่อให้เอกชนรายกลาง รายเล็กที่มีแรงงานนอกระบบประกันสังคมแต่ถูกกฎหมายนำไปตรวจสอบเพื่อดึงกลุ่มเสี่ยงออกมา ซึ่งต้องการเร่งให้ดำเนินการโดยเร็ว”
3.มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ มองว่าควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างถาวร ขั้นตอนก็ต้องดูรายละเอียดพร้อมงบประมาณที่ใช้อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพื่อเกิดความร่วมมือ
ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้งควรขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อช่วยให้สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ จากมาตรการเชิงรุกในการคัดกรองและตรวจสอบแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการต่าง ๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือทั้งจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่ควบคุมสูงสุด ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจสอบและคัดกรองที่มีความเสี่ยงมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก