ฝ่ามรสุมตู้คอนเทนเนอร์ขาด เมอส์กไลน์ ชี้ อีก 2 ปี ต่อตู้เพิ่ม 10%

ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และรวมถึงการปรับขึ้นราคาค่าระวางเรือ ที่กำลังส่งผลกระทบผู้ส่งออกไทยอย่างหนักในขณะนี้ และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อเป็นปัจจัยลบสำคัญที่จะฉุดรั้งการส่งออกของไทย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยข้อมูลสถิติการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ไทยในปี 2563 มีจำนวน 4.91 ล้านตู้ ลดลง 4.85% จากปี 2562 และมีการส่งตู้คอนเทนเนอร์ออก 4.66 ล้านตู้ ลดลง 6.14% จากปี 2562 หมายถึงไทยนำเข้าสินค้าน้อยลงจึงต้องนำเข้าตู้มาเพื่อรองรับสินค้าที่ต้องการส่งออก แต่ทว่าในปี 2563 ตู้ขาเข้าที่บรรทุกสินค้าเข้ามาลดลง และตู้เปล่าที่สายการเดินเรือจะนำเข้ามาก็ลดลงเช่นกัน เพราะไปตกค้างอยู่ที่ปลายทางส่งออก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป จึงทำให้ตู้ไม่เพียงพอ

“ทาง สรท.ได้ประสานสมาคมเจ้าของเรือไทยในการเจรจานำเข้าตู้จากหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ เอเชียใต้ เพื่อเพิ่มซัพพลายตู้เป็นการเร่งด่วน ขณะเดียวกันก็ประสานกับกรมเจ้าท่าในการลดค่าใช้จ่ายเรื่องภาระหน้าท่า เพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เรือมากขึ้น และขอให้มีการแก้ไขประกาศเพื่อเปิดทางให้นำเรือใหญ่เข้ามา”

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในสัมมนา “สถานการณ์ส่งออกสินค้าทางทะเลด้วยระบบคอนเทนเนอร์ : บริบทไทยและบริบทโลก” เพื่อให้ข้อมูลสมาชิกเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้า การจัดสรรพื้นที่ระวางเรือเพื่อวางตู้สินค้า รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือว่าทางหอการค้าและเครือข่ายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมประสานให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผ่านกลไก ศบศ.

ล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกรม ที่ 25/2564 เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 กำหนดให้เรือที่มีความยาวเรือมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตร เข้าเทียบท่า ณ ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อผ่านการพิจารณาจากการขออนุญาตกรมเจ้าท่าแล้วไม่ต้องขออนุญาตอีกภายในเวลา 2 ปี

ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำเรือใหญ่ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาเพิ่มขึ้น20-30% ในเส้นทางหลัก และจะส่งเสริมให้มีการนำตู้เปล่าเข้ามาเพิ่มขึ้น เดือนละประมาณ 12,000 ตู้ นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ค่าระวางเรือในการขนส่งจากประเทศไทยลดลง

นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ กรรมการ บริษัท เมอส์กไลน์ ไทยแลนด์ กล่าวว่า ปัญหาอุปสรรคตู้คอนเทนเนอร์ถือเป็นเหตุการณ์ perfect storm ที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งเกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

ทำให้การเกิดปัญหาคอขวด(bottle neck) ที่ท่าเรือ ประกอบกับการขาดแคลนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าระหว่างท่าเรือ การขนส่งและหมุนรอบของตู้คอนเทนเนอร์ไม่เป็นไปตามตารางเวลา แต่คาดการณ์ว่าปัญหานี้จะคลี่คลายลงในเวลา 6 เดือน หรือปลายปี 2564

กรรมการบริษัทเมอส์กไลน์ชี้ว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีการต่อเรือสินค้า เพิ่มเข้าสู่ระบบการขนส่งทางทะเลทั่วโลกอีก 10% ซึ่งจะรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลด้วยระบบตู้คอนเนอร์ได้เพิ่มขึ้น


ดังนั้นไทยควรมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซ่อมตู้คอนเทนเทอร์ เพื่อรองรับอุปสงค์และอุปทานของตู้ รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านการขนส่งทางทะเลให้สะดวกในทุกมิติ เพื่อสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป