ชิงเค้ก “ถุงมือยาง” แสนล้าน ปตท. ผนึกพันธมิตรขึ้นโรงงาน

อู้ฟู่ อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยโตยาวต่อเนื่องอีก 5 ปี นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางชี้ นักลงทุนรายเก่า-รายใหม่พร้อมแจม บูมลงทุน คาดเม็ดเงินไหลสู่ระบบกว่า 40,000 ล้านบาท ด้าน “ปตท.-ไทยฮั้วฯ” กางแผนลงทุนโดดร่วมด้วย ส่งผลภาพรวมดันราคายางพาราสูงกว่า 60-70 บาท/กก. จี้รัฐเร่งหยอดน้ำมันเอกชนเทียบโมเดลมาเลเซีย ปล่อยเงินกู้ ปลดล็อกผังเมือง เจรจาเอฟทีเอขยายตลาด สกัดผู้ค้าถุงมือปลอม

ผลพวงจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลักดันยอดส่งออก “ถุงมือยาง” ของไทยในปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 72,680.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าปีนี้ส่งออกจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับแสนล้าน จากที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับนำเข้าสินค้าที่ใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวต่อเนื่อง

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทยมีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่องยาวไปอีกอย่างน้อยอีก 5 ปี เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับเทรนด์ที่ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจในการรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยมีตัวเลขจากสมาคมถุงมือยางมาเลเซีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทั่วโลกใช้อ้างอิงระบุแนวโน้มตลาดถุงมือยางโลกปี 2564 จะเติบโตถึง 15-20% ปริมาณ 420,000 ล้านชิ้น จากปีก่อนที่มีปริมาณ 330,000 ล้านชิ้น ส่วนไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 2 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 18% หรือประมาณ 47,000 ล้านชิ้น มาเลเซียมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 60%

วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล

“แนวโน้มราคาถุงมือยางยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงต่อเนื่อง ตอนนี้ยังไม่มีลูกค้าคนไหนยกเลิกออร์เดอร์หรือขอลดราคาจากสาเหตุที่มีวัคซีนแล้ว ในด้านดีมานด์เติบโตมาก ผู้ผลิตไทยมีการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า หรือแบ็กล็อกยางไปแล้ว 10-20 เดือน หรือประมาณ 1-2 ปี แล้วแต่ชนิดถุงมือ บางชนิดของบางบริษัทรับออร์เดอร์ล่วงหน้า 30 เดือนก็มี ตอนนี้โรงงานถุงมือยางทั่วโลกทุกคนผลิตไม่ทันออร์เดอร์ ผู้ผลิตไทยหลายรายจึงรับออร์เดอร์ใหม่ไม่ได้” นายวีรสิทธิ์กล่าว

กางแผนลงทุนล่วงหน้า 5 ปี

อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการหารือกันในวงการ มีโรงงานผู้ผลิตในกลุ่มสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย วางแผนการผลิตล่วงหน้าเพื่อไปรองรับออร์เดอร์ที่เข้ามาในช่วง 3-5 ปีนี้ บางโรงงานก็วางแผนขยายการผลิตก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 เป็นปีจากเทรนด์คนรักสุขภาพมากขึ้น และพอมาเจอโควิดเข้าจริง ๆ ก็ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลให้มีเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง รายหนึ่งมีแผนการลงทุนไปถึง 5 ปีข้างหน้า คิดเป็นเงินลงทุนถึง 40,000 ล้านบาท ยังไม่รวมรายอื่น ๆ

ล่าสุดด้วยอัตราเติบโตของสินค้าถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนหน้าใหม่และการขยายการลงทุนเพิ่มเติมจากผู้ประกอบการในปัจจุบัน เฉพาะในสมาคมมีสมาชิกเป็นโรงงานผู้ผลิต 19 โรงงาน และยังมีซัพพลายเออร์ เช่น ส่งกล่อง หรือสารเคมีให้ที่อยู่ในซัพพลายเชนรวมก็จะประมาณ 50 กว่าราย

“ปีที่ผ่านมาได้ยินมาว่าจะมีโรงงานถุงมือยางใหม่กว่า 10 แห่ง แต่เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลตอนนี้ มีคนลงทุนจริง ๆ อาจมีแค่ 2-3 ราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และนอกวงการ ทั้งไทย มาเลเซีย สหรัฐ บางรายก็ขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือใบ รง.4 แล้ว ซื้อที่ดินแล้วก็มี แต่ก็มีอีกหลายรายไม่ลงทุน เพราะอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ๆ ถ้าเกิดโรงงานเสร็จไม่ทันในช่วงปี 2020-2021 ซึ่งมีความต้องการถุงมือยางมาก ผู้ลงทุนก็จะคืนทุนช้า ก็ต้องคิดมากหน่อย” นายวีรสิทธิ์กล่าว

ส่วนกรณีโรงงานผลิตถุงมือยางในมาเลเซีย ปิดจากการระบาดของโควิด-19 ก็มีนักลงทุนรายใหม่ ๆ เข้ามา จากที่มีข่าวว่ามีผู้สนใจเป็น 100 ราย แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้วมีประมาณ 15 รายเท่านั้น ดังนั้น ภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางโลกจึงไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก เพราะโรงงานที่ปิดไปเป็น 2-3 รายใหญ่ระดับโลก ไม่ได้มีแค่โรงงานเดียว กลุ่มนี้มีโรงงานเป็น 10-20 โรงงาน โรงงานที่ปิดไปมีแค่ 1-2 โรงงาน พอคำนวณตัวเลขมาแล้ว กำลังการผลิตถุงมือยางไม่ได้หายไปแบบมีนัยสำคัญกับซัพพลาย หรือยอดขาย

ไล่บี้เทียบชั้นมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดถุงมือยางโลกจะเติบโตมากขึ้น และผู้ประกอบการไทยเร่งขยายกำลังการผลิต แต่อาจจะเรียกได้ว่า “ไทยยังโตตามมาเลเซียไม่ทันอยู่ดี” เพราะบริษัทผู้ผลิตมาเลเซียหลายรายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดี มีการออกบอนด์และขายหุ้น IPO ส่งผลให้มาเลเซียขยายกำลังผลิตได้อย่างรวดเร็ว และอุตสาหกรรมนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่เชิดหน้าชูตาของมาเลเซีย

ส่วนในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเพิ่งมีคนรู้จักอุตสาหกรรมนี้ และให้ความสำคัญเมื่อปี 2563 จากสถานการณ์โควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ “ถุงมือ” ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่อยู่ในสปอตไลต์ ดังนั้นการสนับสนุนหลาย ๆ อย่าง เช่น แหล่งเงินทุน ทำได้ยาก จะมีก็แต่ของโครงการชดเชยดอกเบี้ยการยางแห่งประเทศไทยที่ช่วยเรื่องดอกเบี้ย 3% การขยายโรงงานก็ติดปัญหาผังเมือง แม้จะเป็นพื้นที่เหมาะสมแต่ขยายโรงงานไม่ได้ ด้านการขยายตลาด รัฐบาลมาเลเซียได้ไปเจรจาเปิดตลาดกับรัฐบาลหลายประเทศ อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง มาเลเซียเสียภาษีแค่ 2% ขณะที่ไทยส่งออกเสียภาษีถึง 14-15% ซึ่งในอนาคตรัฐบาลไทยต้องเร่งเปิดตลาดในจุดนี้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

“ปีนี้น่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวก็จะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมนี้ อีกทั้งทิศทางความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ยาง ปาล์ม ทองแดง พลาสติก โดยเฉพาะยางพารามีทิศทางดีขึ้นหมด ราคาเฉลี่ยยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงประมาณ กก.ละ 60-70 บาท ในส่วนของวัตถุดิบประเทศไทยมีทั้งผลิตถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ ซึ่งเท่าที่ประเมินต้นน้ำ ยางธรรมชาติยังมีปริมาณเพียงพอ มีบางโรงงานขยายกำลังการผลิตน้ำยางข้น แต่ที่จะแย่งกันก็คือวัตถุดิบของยางสังเคราะห์บางตัว ผมเชื่อว่าเรามีต้นน้ำยางธรรมชาติเหลือเฟือและมีการขยายกำลังการผลิตต้นน้ำด้วย” นายวีรสิทธิ์กล่าว

ฝ่าปัจจัยลบ

ส่วนปัจจัยลบที่อาจจะมีผลต่ออุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง อาทิ 1) การใช้นโยบาย Buy American ของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะไม่กระทบต่อตลาดส่งออกยาง เพราะสหรัฐยังไม่มีโรงงานถุงมือยางที่มีกำลังการผลิตเพียงพอ จึงต้องนำเข้าถุงมือยางจากทั่วโลก 2) ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งออก 3) ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และ 4) ปัญหาล่าสุดก็คือเกิดมิจฉาชีพเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเพจหลอกขายถุงมือยาง ตั้งโรงงานหลอก ๆ แอบอ้างชื่อบริษัทไปหลอกขาย ซึ่งต้องเร่งแก้ไขเพื่อรักษาภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำการส่งออกถุงมือยางไทย ล่าสุดทางสมาคมก็มุ่งสกรีนสมาชิกเข้มงวดขึ้น

ศรีตรังฯ-ไทยฮั้วฯ ขยายไลน์ผลิต

ด้าน นางจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวว่า ภาพรวมบริษัทได้ขยับเป้าหมายการผลิตเร็วขึ้น จากเดิมวางสเต็ป 4 ปี หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 70,000 ล้านชิ้น ในปี 2028 แต่ตอนนี้มองว่าน่าจะเร็วขึ้นอีก 2 ปี หรือประมาณปี 2026 (2569) โดยปัจจัยบวกจากโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 100 ปี โดยเมื่อปี 2563 ศรีตรังฯได้เริ่มขยายการลงทุนใน 4 โรงงาน จะทยอยเปิดเดินเครื่องผลิตในไตรมาส 1/2564 โรงงานใน อ.สะเดา จ.สงขลา 2 แห่งมีกำลังการผลิต 10,000 ล้านชิ้น และโรงงานใน จ.สุราษฎร์ธานี 2 โรง กำลังการผลิต 6,000 ล้านชิ้น ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานทดลองที่ จ.สุราษฎร์ธานี แต่กระทบกำลังการผลิตแค่ 0.6% ของภาพรวมทั้งหมด และโรงงานส่วนนั้นจะกลับมาผลิตได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้

นายหลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง จำกัด (มหาชน) (STHAI) กล่าวว่า ในเดือนเมษายนนี้ ไทยฮั้วฯเตรียมเปิดไลน์การผลิตถุงมือยางที่โรงงานแห่งใหม่ ใช้ชื่อ “ไทยฮั้ว โฮลดิ้ง” ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ได้ลงทุนก่อสร้างด้วยงบประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้ได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากทั้งจีนและต่างประเทศ ผลิตเพื่อการส่งออก 100% โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรป คาดว่าในปีแรกจะสามารถส่งออกได้ 2,000 ล้านกล่อง ซึ่งรวมกับโรงงานและเครือข่ายพันธมิตรเดิมอีก 3,000 ล้านกล่อง ส่วนปี 2565 คาดว่าจะผลิตได้เพิ่มเต็มกำลังการผลิต ประมาณ 4,000 ล้านกล่อง รวมกับพันธมิตร 6,000 ล้านกล่อง

ปตท.ผนึกพันธมิตรขึ้นโรงงาน

ขณะที่ นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะจับคู่พันธมิตร (จอยต์เวนเจอร์) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรล์) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็น 1 ใน 4 สินค้าเป้าหมายที่วางไว้ (ยา อาหารอนาคต อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ และการวินิจฉัยโรค) และที่สำคัญ เป็นสินค้าที่สามารถใช้วัตถุดิบจากกลุ่มปิโตรเคมีของ ปตท.ได้

บุรณิน รัตนสมบัติ

“บริษัทกำลังหารือกับพันธมิตรระดับโลกเพื่อขอใบอนุญาตสร้างโรงงาน เรามีวัตถุดิบ 2 ตัว ตัวแรกผลิตในกลุ่ม IRPC และอีกตัวก็อยู่ในกลุ่ม GC ส่วนเทคโนโลยีต้องอาศัยเขา อาจต้องมาจอยต์และทำตลาดร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้มีเทคโนโลยีนี้ คือ เกาหลี ไต้หวัน และมาเลเซีย เมื่อได้ไลเซนส์จะเริ่มสร้างโรงงาน จะเสร็จปี 2565 หรือ 2566 แต่ระหว่างนั้นจะทำตลาดได้” นายบุรณินกล่าว


ทั้งนี้ ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏมีโรงงานผลิตถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์ จำนวน 49 โรง เงินลงทุน 17,287 ล้านบาท โดยอันดับ 1) บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 4 โรงงาน จ.สงขลา เงินลงทุน 7,906 ล้านบาท 2) บริษัท คาร์ดิแนล เฮลท์ 222 (ประเทศไทย) จำกัด 1 โรงงาน จ.ระยอง เงินลงทุน 2,994 ล้านบาท 3) บริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด จ.สงขลา เงินลงทุน 1,363 ล้านบาท 4) บริษัท เมอร์กาโต้ เมดิคัล (ไทยแลนด์) จำกัด 2 โรง จ.สงขลา เงินลงทุน 1,155 ล้านบาท และ 5) บริษัท ท้อปโกลฟ เมดิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด จ.สงขลา เงินลงทุน 439 ล้านบาท