ธุรกิจบริการ : ทางรอดประเทศไทย 4.0

คอลัมน์ แตกประเด็น

รัชดา เจียสกุล
โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

สัปดาห์ ที่แล้ว นายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ได้กล่าวในที่ประชุมการค้าบริการโลก (Global Services Summit) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า การค้าบริการโลกนั้นคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดบน โลกใบนี้ ซึ่งในการประชุมใหญ่ระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในเดือนธันวาคมปีนี้ WTO ให้ความสำคัญกับเรื่องการค้าบริการระหว่างประเทศมากขึ้น สำหรับประเทศไทยเองเริ่มได้ยินข่าวการให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการอยู่แว่ว ๆ แต่น่าจับตาว่าจะเริ่มกระหึ่มกว่านี้เมื่อไหร่

ประเทศไทยถือเป็น ประเทศที่ได้รับการจับตามองเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการค้าบริการระหว่างประเทศ จากข้อมูลล่าสุดของ WTO ณ ไตรมาส 2 ของปี 2017 หากเลือกเฉพาะประเทศที่มีการส่งออกบริการมาก 30 อันดับแรกของโลก ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีการขยายตัวด้านการส่งออกบริการมากเป็นอันดับ 4 คือส่งออกบริการ Q2 ปี 2017 เติบโตถึง 12.5% นอกจากนี้ ประเทศไทยยังรั้งตำแหน่งอันดับ 3 ของโลก สำหรับมูลค่าการส่งออกบริการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสของการขยายตัวด้านเศรษฐกิจภาคบริการของไทยได้อีกมาก

ลองดูช่องว่างในการพัฒนาสำหรับประเทศไทยที่น่าสนใจ การส่งออกบริการระหว่างประเทศคิดเป็น 50% ของการส่งออกสินค้าโลก ขณะที่การส่งออกบริการระหว่างประเทศของไทยตอนนี้คิดเป็นแค่ 30% ของการส่งออกไทย
และในขณะที่สัดส่วนของการส่งออกบริการระหว่าง ประเทศด้านการท่องเที่ยวของโลกนั้นคิดเป็นเพียง 24% ของการส่งออกบริการทั้งหมดของโลก แต่สำหรับประเทศไทยการส่งออกด้านการท่องเที่ยวกลับมีสัดส่วนสูงถึง 71% ของการส่งออกบริการทั้งหมดของไทย นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราเก่งอยู่แล้วคือเรื่องท่องเที่ยว ต้องทำให้ดีต่อไป แต่หากเราเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากการส่งออกบริการนอกเหนือจากเรื่องท่อง เที่ยวแล้ว จะพบโอกาสในการเติบโตมหาศาลที่รอเราอยู่

แล้วการบริการ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวนั้นได้แก่อะไรบ้าง ? WTO ได้แบ่งกลุ่มการค้าบริการระหว่างประเทศของโลก ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) การค้าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าสินค้า (goods-related services) เช่น การซ่อมบำรุง 2) การค้าบริการด้านการขนส่ง (transport services) 3) การท่องเที่ยว (travel) และ 4) บริการอื่น ๆ (other commercial services) ได้แก่ ก่อสร้าง ประกันภัย เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริการทางธุรกิจต่าง ๆ เช่น บริการด้านกฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บริการธุรกิจที่ปรึกษา ค่าทรัพย์สินทางปัญญา และบริการสันทนาการ

และ จากข้อมูลของ WTO สถิติการส่งออกบริการนอกเหนือจากการท่องเที่ยวของไทยนั้น กลุ่มบริการที่มีขนาดใหญ่รองจากการท่องเที่ยว คือ การบริการธุรกิจ และการขนส่ง โดยกลุ่มบริการที่ไทยทำสถิติส่งออกเติบโตเป็นเลข 2 หลักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้แก่ บริการธุรกิจ (กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ที่ปรึกษา) บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบริการด้านการเงิน แน่นอน เหล่านี้ เป็นกลุ่มธุรกิจบริการ ที่น่าจับตาและน่าส่งเสริมให้เติบโตสร้างรายได้จากเงินตราต่างประเทศได้อีก

นอกจากนี้ ธุรกิจบริการถือเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของประเทศในอนาคต และจำเป็นหรือถือเป็นทางรอดของเศรษฐกิจสำหรับการเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 เลยทีเดียว ขณะนี้การจ้างงานในภาคบริการของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52% ของการจ้างงานทั้งหมด หากหันไปดูสัดส่วนการจ้างงานของประเทศพัฒนาแล้ว มีสัดส่วนการจ้างงานภาคบริการเกิน 70% ทั้งนั้น ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่หลายคนเกรงกลัวว่าเครื่องจักรอาจเข้ามาทดแทนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการจึงเป็นคำตอบที่เข้ามารองรับการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ และในทุกเทคโนโลยีของยุค 4.0 ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับภาคบริการมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ผลประโยชน์จากการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ ส่งผลต่อภาคการผลิต และภาคบริการ แม้กระทั่งการพัฒนาหุ่นยนต์ ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุค 4.0 ที่จะนำไปใช้ในภาคบริการ

อย่างไรก็ตาม ภาคบริการยังมีความสำคัญมากกับความสามารถทางการแข่งขัน และต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น บริการโลจิสติกส์ บริการขนส่ง บริการด้านการเงิน บริการด้านการศึกษา บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต้องเป็นบริการที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ และมีคุณภาพดี เป็นกลุ่มบริการที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเชื่อมโยงโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตของประเทศ

แนวทางการส่งเสริมบริการกลุ่มเส้นเลือดใหญ่นี้น่าจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎ ระเบียบที่เป็นธรรม ระมัดระวัง และส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจบริการอีกกลุ่มที่มีความสำคัญมากต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และมีการเติบโตระดับเลข 2 หลักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา


คือภาคบริการ ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต หรือภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับบริการ เช่น บริการด้านการวิจัยและพัฒนา บริการด้านการทดสอบและตรวจสอบ บริการด้านการซ่อมบำรุง บริการธุรกิจต่าง ๆ เช่น กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ที่ปรึกษา บริการการจัดจำหน่ายปลีกและส่ง บริการด้านสิ่งแวดล้อม บริการเหล่านี้ยังไม่เห็นตัวเลขส่งออกบริการจากไทยมากนัก นั่นเพราะว่ายังมีโอกาสและความต้องการภายในประเทศอย่างมหาศาล หากบริการเกี่ยวเนื่องกับการผลิตเหล่านี้มีเพียงพอ มีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงแนบแน่นกับภาคการผลิต น่าจะเป็นทัพนักรบเศรษฐกิจสำคัญช่วยประคองเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ได้พอไหว ส่วนทัพหน้าธุรกิจบริการกลุ่มสร้างรายได้ ทั้งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (hospitality) เช่นโรงแรม และร้านอาหาร กลุ่มสุขภาพ (wellness & medical services) กลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ออกแบบ ดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งเล็กใหญ่ โดยเฉพาะพวกจิ๋วแต่แจ๋วสำคัญแน่นอน ใครเก่งรีบเร่เข้ามาเลยค่ะ