ภาคธุรกิจ ห่วงแพร่ระบาดโควิดครั้งใหม่ ฉุดความเชื่อมั่นต่ำสุดระดับ 29.6

หอการค้าไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 29.6 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผลจากการแพร่ระบาดครั้งใหม่ กระทบความเชื่อมั่น หวังภาครัฐช่วยคุมสถานการณ์ พร้อมออกมาตรการกระตุ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่จะดึงเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

วันที่ 18 มีนาคม 2564 นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย และประธานที่ปรึกษาโครงการ Harbour Space@UTCC เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564” จำนวน 369 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีคววามเชื่อมั่น อยู่ระดับที่ 29.6

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 29.2 การบริโภค อยู่ระดับ 33.0 การลงทุน อยู่ระดับ 28.6 เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับ 50 โดยมีปัจจัยกระทบจาก ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID -19 รอบใหม่ ที่มีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยยังคงมีการขาดดุลการค้า 202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10 )

และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.80 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.90 บาทต่อลิตร ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 30.006 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

ส่วนปัจจัยบวก ที่มีผลต่อดัชนีตวามเชื่อมั่น เช่น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และ“เรารักกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ การเริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน รวมถึงการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิดในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น

กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ การส่งออกของไทยเดือน ม.ค. 64เพิ่มขึ้น 0.35% มูลค่าอยู่ที่ 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 5.24% มีมูลค่าอยู่ที่ 19,908.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้าสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจรายจังหวัด พบว่า เศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวม 43.4% แย่ลง การบริโภคภายในจังหวัด 44.6% แย่ลง การลงทุนของภาคเอกชนในจังหวัด 50.4% แย่ลง การท่องเที่ยวภายในจังหวัด 53.8% แย่ลง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วภาคธุรกิจยังมองว่า 6 เดือนข้างหน้ายังมองว่าเศรษฐกิจรายจังหวัดยังไม่ดัขึ้น การค้า การบริการ การจ้างงาน เป็นต้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน ก.พ. 2564 อยู่ที่ระดับ 29.6 ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 2562 หรือประมาณ 26 เดือน

ซึ่งส่วนใหญ่ภาคธุรกิจให้ความกังวลเรื่องของโควิด การแพร่ระบาดครั้งใหม่ที่เกิดขึ้น แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาเดือนละ 2 ล้านคน และแผนการฉีดวัคซีน ที่ยังไม่ชัดเจน เป็นต้น

“หากภาครัฐมีความชัดเจนในแผนกระตุ้นเชื่อว่าจะทำให้การท่องเที่ยวกลับมา และทำให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น พร้อมกันนี้ ความชัดเจนในการฉีดวัคซีน รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนช่วยเหลือในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบรัฐบาลด้วย หากดำเนินการได้ หอการค้าไทยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ โอกาสจุขยายตัวในกรอบ 2.5-3.5% และหากรัฐมองว่าเศรษฐกิจไทยโต 4% ครึ่งปีหลังภาพรวมเศรษฐกิจต้องโต 8% ซึ่งยากหากไม่ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว”

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจยังคงกังวลการกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาด หากควบคุมได้ในเดือนมีนาคมนี้ สถานการณ์สงกรานต์น่าจะดีขึ้นประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่น กระตุ้นการใช้จ่าย ก็จะทำให้เศรษฐไทยดีขึ้นได้ ส่วนมาตรการภาครัฐก็ยังมองว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเพิ่มการใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ดี หากแผนกระตุ้นท่องเที่ยวกับมาเชื่อว่าเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาดีขึ้นแน่นอน

และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ เช่น เร่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อให้สถานการณ์การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติทั้งภาคการค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว ส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน


โดยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้มากขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และความเชื่อมั่นกับนักลงทุนพร้อมสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน เร่งฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อลดการตกงาน