“พาณิชย์” ถกกลุ่มเหล็ก ล็อกคอตรึงราคารับลูก “บิ๊กตู่”

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน
วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน

จับตา “พาณิชย์” ถกผู้ประกอบการ-ผู้ใช้เหล็ก เคาะมาตรการดูแลหลังนายกรัฐมนตรีสั่งให้ดูเเลราคาเหล็กสวนทางตลาดโลกที่กำลังปรับขึ้นกว่า 5 บาทหลังราคาโลกพุ่ง ด้าน “โรงเหล็ก” เครียดจ่อพบ “บิ๊กตู่” ชี้แจงข้อเท็จจริง กังวลเปิดทางเหล็กจีนเข้าดัมพ์กดราคา ด้าน “กระทรวงอุตสาหกรรม-สถาบันเหล็ก” เผยสินค้ามีพอไม่ขาดตลาด เร่งนโยบายดันเหล็ก 4.0 เร็วขึ้น

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการหารือระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้เหล็ก หลังจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่ปรับตัวขึ้นอยู่ในขณะนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งหากไม่เร่งดูแลจะกระทบต่อไปยังปัญหาการจ้างงานในระยะต่อไปได้

รายงานข่าวระบุว่า เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ซึ่งอยู่ในหมวดวัสดุก่อสร้าง เป็นสินค้าควบคุมที่ต้องมีการติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของผู้บริโภคและมีผลกระทบโดยส่วนใหญ่ จึงจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ต้องควบคุมดูแลทั้งด้านราคาและปริมาณ โดยสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้า และบริการควบคุมในปี 2563 ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ นอกจากนี้ ยังมีรายงานสินค้าในหมวดนี้ที่เป็นสินค้าควบคุมด้วย เช่น ท่อพีวีซี ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี สินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมภายใต้ประกาศดังกล่าวนั้น ก็เพื่อต้องการป้องกันปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยการกำหนดราคาซื้อ-ขายเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เมื่อสินค้าอยู่ภายใต้การดูแลก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งคุณภาพ ราคา การจำหน่าย หรือแม้แต่การติดป้ายบอกราคา รวมไปถึงการแจ้งปริมาณสินค้าด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ตามประกาศสินค้าควบคุมและบริการนี้มีสินค้าควบคุมทั้งสิ้น 55 รายการสินค้า ซึ่งอยู่ใน 10 หมวดสินค้า และ 1 หมวดบริการ

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กได้มีการประชุมหารือเรื่องดังกล่าว เนื่องจากราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็นไปตามราคาตลาดโลก และยังถือเป็นช่วงโอกาสและจังหวะดีที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่หลาย ๆ ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีน จนทำให้เข้ามากดราคาในประเทศจนต่ำลง จนในที่สุดเหล่าผู้ประกอบการเหล็กก็ต้องออกมาปกป้องอุตสาหกรรม จนทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น

ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจึงเตรียมขอเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริงให้รับทราบว่าราคาเหล็กที่ปรับขึ้นมาจากต้นทุนตลาดโลก ต้นทุนพลังงาน เมื่อเทียบแล้วก็ไม่ได้มีกำไรมากมาย

“สิ่งที่กังวลในตอนนี้ คือ หวั่นว่าภาครัฐจะเปิดทางให้นำเข้าเหล็กจีนได้เพื่อมาถ่วงราคาให้ลดลง และคงกลัวว่าเหล็กในประเทศจะผลิตไม่พอ ถ้ารัฐบาลใจกว้างต้องเปิดโอกาสให้เราเข้าไปคุย ฟังทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ผลิต ผู้ใช้ เราห่วงคนที่จะสั่งออร์เดอร์ตอนนี้ พอนายกฯสั่งคุมราคาเหล็กไม่ให้ขึ้น เขาจะชะลอออร์เดอร์รอราคาลงมันกระทบเราแน่นอน อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นทุนเราสูงขึ้น เราคงลดราคาเหล็กลงไม่ได้ แต่จะไม่ฉวยโอกาสแน่นอน”

ทางด้านนายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโรงงานเหล็กของไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 30-40% ดังนั้น การที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ จึงได้ช่วยพยุงการจ้างงานและโครงสร้างการผลิตเหล็กของไทยให้อยู่ได้ในช่วงวิกฤต

ดังนั้น จึงทำให้ supply ของสินค้าไม่ขาดตลาด ถึงแม้ว่าราคาในตลาดโลกจะปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง แต่โรงงานเหล็กของประเทศไทยมีสินค้าคงเหลืออยู่มากเพียงพอ โดยตัวเลขการนำเข้าสินค้าเหล็กในปี 2564 มีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 12%

ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. 2564 พบว่า ราคาเหล็กโลกอยู่ที่ 162 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 119% ซึ่งอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐ, เศษเหล็กราคา 432 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 205 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 110%, บิลเลตราคา 810 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 441 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 84% และ slab ราคา 925 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 408 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 127%

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีหน้าที่ทั้งในการกำหนดมาตรฐาน (มอก.) เหล็กให้ได้คุณภาพ รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อความยั่งยืน โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และแน่นอนว่าจากคำสั่งนายกฯดังกล่าว เร็ว ๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีมาตรการออกมาเป็นแนวทางช่วยเหลือและปฏิบัติสำหรับภาคเอกชนต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า จากการที่ราคาเหล็กขายในประเทศก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ประมาณ 18 บาทต่อ กก. และปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 22.5-23 บาทต่อ กก. และหลังจากนี้ต้องจับตาดูท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ว่าจะมีมาตรการใด เข้ามาดูแลอย่างไร หรือจะกำหนดราคากลางไม่ให้ขายสูงเกินเพดานหรือไม่


ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณการผลิตโดยเฉพาะเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศไทยอยู่ที่ 11 ล้านตันต่อปี แต่ความต้องการใช้ในประเทศมีเพียงแค่ 4 ล้านตันต่อปีแสดงให้เห็นว่าความต้องการเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศยังเพียงพอกับปริมาณการผลิต จึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้า