พิษโควิด “ถุงมือยาง” ราคาพุ่งขึ้นเท่าตัว ตลาดป่วน รพ.ขาดแคลน

(Photo by Mohd RASFAN / AFP)

พิษโควิดทำตลาดถุงมือยางปั่นป่วน รพ.โอดหาซื้อยาก-ราคาพุ่งเท่าตัวหวั่นซ้ำรอยหน้ากากอนามัย ร้องกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูแล สกัดเก็งกำไร ด้านร้านขายยาแจงไทม์ไลน์ “ราคาขาขึ้น” ล่าสุดทะลุ 220 บาท/กล่อง ด้านโรงงานผู้ผลิตแจง ดีมานด์พุ่ง-ราคาเพิ่ม ตามกลไกตลาด

การโจมตีของโควิด-19 รอบล่าสุด ที่กระจายเป็นวงกว้างและยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน เริ่มส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเริ่มขาดตลาด และมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะถุงมือยาง ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะเกิดเป็นปัญหาซ้ำรอยคล้าย ๆ กับกรณีหน้ากากอนามัย สินค้าจำเป็นที่คนทั่วไปต้องใช้ แต่กลับกลายเป็นของหายากและมีราคาแพง

ถุงมือยางราคาพุ่ง

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลศูนย์ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระจายเป็นวงกว้างในขณะนี้ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาครัฐต้องมีการสร้างโรงพยาบาลสนาม เตียงสนามในหลาย ๆ พื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์หลาย ๆ อย่างมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ โดยเฉพาะถุงมือยางที่ขณะนี้เริ่มมีไม่พอกับความต้องการ หากสังเกตจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งเริ่มประกาศรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นระยะ ๆ

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ขณะนี้แม้ว่าโรงพยาบาลรัฐจะซื้อถุุงมือยางผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากขณะนี้ปริมาณการใช้ถุงมือยางในแต่ละวันมีเพิ่มเป็นจำนวนมาก บางช่วงสต๊อกที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งต้องการหาซื้อเพื่อสำรองไว้ใช้อีกทางหนึ่ง ทั้งพยายามซื้อตรงจากบริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย แต่ปัญหาคือราคาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

หลังจากการระบาดระลอก 2 ช่วงนั้นราคาขยับมาแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นพอโควิดคลี่คลายราคาก็เริ่มนิ่ง แต่พอเกิดรอบ 3 มีการระบาดหนักและกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ทุกโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่โซนสีแดงที่มีการระบาดมาก ขณะที่เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องใช้ถุงมือยางเพื่อป้องการกันแพร่ระบาด

นี่ยังไม่รวมถึงพ่อค้า แม่ค้าตามตลาดสด พนักงานในร้านขายอาหาร ร้านค้า ฯลฯ ต่างก็มีความจำเป็นต้องใช้  ความต้องการถุงมือยางจึงมีมากขึ้น

สอดคล้องกับผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หลายแห่ง ในเขตสำนักงานสุขภาพที่ 2 และ 6 ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ความต้องการใช้ถุงมือยางของบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก และราคาที่โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งทยอยซื้อเพื่อสต๊อกไว้ใช้เริ่มมีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และได้รับคำชี้แจงจากผู้ขายว่า ของมีน้อย เพราะความต้องการมีมาก ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น

“เป็นเรื่องน่าแปลก ทั้ง ๆ ที่เมืองไทยมีโรงงานผลิตถุงยางเพื่อส่งออกจำนวนมาก แต่ในประเทศกลับมีของน้อย ราคาแพง ซึ่งเกรงว่าเรื่องนี้จะเกิดปัญหาซ้ำรอยกับเรื่องของหน้ากากอนามัยที่เคยเกิดปัญหามาแล้วเมื่อช่วงที่โควิดระบาดระลอกแรก

นอกจากนี้ ปัญหาที่ถุงมือยางมีราคาสูงขึ้น หายากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากปัญหาการกักตุนสินค้าเพื่อทำกำไรของยี่ปั๊วซาปั๊ว ที่อาศัยจังหวะที่ตลาดมีความต้องการสูงกักตุนสินค้าเพื่อทำกำไร ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ควรจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย”

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการร้านขายยาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ไปในทิศทางเดียวกันว่า ขณะนี้ราคาถุงมือยางปรับตัวขึ้นมาก จากความต้องการในกลุ่มผู้บริโภค หรือประชาชนทั่วไปที่มีมากขึ้น ซี่งเป็นผลกระทบมาจากความตื่นกังวลการแพร่ระบาดของโควิด โดยตอนนี้ในแง่ของการสั่งออร์เดอร์จากยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ทำได้ยากขึ้น ของมาครบบ้าง ไม่ครบบ้าง หรือบางครั้งออร์เดอร์ไปก็ไม่ได้ของ

เมื่อก่อนขายที่ราคา 150 บาท/กล่อง (50 ชิ้น ชนิดมีแป้ง) ตอนหลังต้องปรับราคาเป็น 160 บาท/กล่อง แต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่มีการแพร่ระบาดระลอก 2 คลัสเตอร์แพกุ้ง สมุทรสาคร ราคาขยับขึ้นเป็น 195 บาท/กล่อง ล่าสุดตอนนี้หลังจากมีการระบาดระลอก 3 ราคาวิ่งอยู่ที่ประมาณ 220-230 บาท/กล่อง

ปรับราคาถุงมือยางขึ้น

นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยเฉพาะในช่วงปีแรกที่เกิดโควิด-19 ช่วงนั้นซัพพลายอาจจะขาดบ้าง แต่ตอนนี้มีการผลิตอย่างเพียงพอ โดยกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรมถุงมือยางมีการใช้กำลังผลิตกันเต็ม 100%

ส่วนในด้านราคาทราบว่า “มีการปรับราคาสูงขึ้น” ตามต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทั้งถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ เป็นไปตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

“แนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมปีนี้น่าจะเติบโตต่อเนื่อง การขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นก็มีบ้าง แต่ยังไม่ค่อยเห็นนักลงทุนรายใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นรายเดิมที่ขยายกำลังการผลิต อาจจะเป็นเพราะว่าการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์จะลงทุนเลยไม่ได้ ต้องขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต้องผ่านมาตรฐานด้วย”

นายหลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และบริษัทซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาถุงมือยางปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2563 โดยเฉลี่ยถุงมือยางธรรมชาติปรับขึ้น 150%

ส่วนถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรล์) ปรับขึ้น 200% ทำให้ราคาถุงมือยางธรรมชาติปัจจุบันอยู่ที่กล่องละ 6-7 เหรียญสหรัฐ ส่วนถุงมือยางไนไตรล์กล่องละ 10 เหรียญ เป็นผลมาจากดีมานด์เพิ่มขึ้นและซัพพลายวัตถุดิบลดลง โดยเฉพาะยางธรรมชาติ และมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย

“ในส่วนของบริษัทได้มีการลงทุนสร้างโรงงานถุงมือยางในนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง 2 โรงงาน จากแผนทั้งหมด 4 โรงงาน โดยแห่งแรกเริ่มผลิตในเดือนพฤษภาคมนี้ กำลังผลิต 10 ล้านกล่อง ส่วนแห่งที่ 2 เตรียมจะผลิตในเดือนมิถุนายน กำลังการผลิต 25 ล้านกล่อง เป้าหมายของเราคือส่งออก 100% เพราะปัจจุบันสัดส่วนถุงมือยางที่ผลิตในประเทศไทยจะใช้ส่งออกสัดส่วน 99% ตลาดใช้ภายในประเทศน้อยมาก แค่ 1% เท่านั้น” นายหลักชัยกล่าว

ศรีตรังเปิด โรงงานใหม่

ขณะที่นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก กล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทวางเป้าหมายขายถุงมือยางรวม 32,000 ล้านชิ้น หรือเติบโต 14% จากปี 2563 ที่มีปริมาณการขายเกือบ 30,000 ล้านชิ้น จากภาพรวมตลาดถุงมือยางทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 แสนล้านชิ้น หรือเพิ่มขึ้น 17% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท

โดยมีแผนเดินเครื่องจักรโรงงานใหม่อีก 4 แห่งในปีนี้ ได้แก่ โรงงาน SR2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มเดินเครื่องจักรเต็มทุกไลน์การผลิตแล้ว โรงงาน SR3 ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่าเริ่มเดินเครื่องจักรภายในไตรมาส 2 นี้ โรงงานที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา คาดว่าเดินเครื่องจักรในไตรมาส 3 และโรงงานจังหวัดตรังคาดว่าจะเดินเครื่องจักรได้ในไตรมาส 4 นี้

ดร.สมบูรณ์ วราห์บัณฑูรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทด๊อกเตอร์ บู จำกัด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โรงงานผลิตถุงมือยางขนาดกลาง กล่าวว่า ถุงมือยางในประเทศไทย “ไม่น่าจะขาดแคลน” แต่ราคาปรับขึ้นจริง หากเปรียบเทียบราคาถุงมือยางตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึงตอนนี้ราคาได้ทยอยปรับขึ้นมาเป็นเท่าตัว 100% ต้องรออีกสักระยะหนึ่งราคาจะเริ่มนิ่ง

อย่างไรก็ตาม ราคาคงจะไม่ลงไปถูกแบบเดิมอีกแล้ว เนื่องจากความต้องการใช้ทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันถุงมือยางถูกนำไปใช้ในทุกเซ็กเมนต์ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์-อาหาร-ร้านอาหาร ไม่ได้ใช้เฉพาะอุตสาหกรรมทางการแพทย์อย่างเดียว

“โรงงานเรามีกำลังการผลิตได้ 1,000 ล้านชิ้นต่อปี และกำลังลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ เฟสแรกโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องจักร คาดว่าจะเปิดทดลองเดินเครื่องได้เดือนมิถุนายน 2564 ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1,200 ล้านบาท ตามแผนจะผลิตถุงมือยางเพิ่มได้อีก 3,000 ล้านชิ้นต่อปี รวมกับโรงงานเก่าเท่ากับบริษัทสามารถผลิตถุงมือยางได้ 4,000 ล้านชิ้นต่อปี”