รถ EV คึกคัก ปตท. MOU ฟ็อกซ์คอนน์ ด้าน EA จ่อลุยยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ

“สุพัฒนพงษ์” ปักธงเป้า 4 ปีไทยต้องมีรถ EV 2.25 แสนคัน ด้าน “ปตท.” MOU โครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ไต้หวัน ดันเป็นโรงงานกลางรับจ้างผลิตรถ EV ทุกยี่ห้อ ขณะที่ “พลังงานบริสุทธิ์ EA” พัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าได้ 80% ใช้เวลา 15 นาที วิ่งได้ 250 กม. จ่อลุยยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะสเต็ปต่อไป

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “ยานยนต์ไฟฟ้า” จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เปลี่ยนการใช้รถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ EV รวมถึงลดปัญหาแต่สิ่งแวดล้อม

สำหรับเป้าหมายระยะสั้น 4 ปีข้างหน้า จะต้องผลักดันให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 225,000 คัน ภายในปี 2568 คิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปัจจุบัน จากนโยบายดังกล่าวเชื่อว่า จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามมา อย่างการลงทุนเรื่องของแบตเตอรรี่ EV และในอนาคตจะรวมไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ

ในระหว่างนี้ จำเป็นต้องความพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเตรียมหารือกับ 3 การไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าให้เป็นสมาร์ดกริดรองรับ ทั้งนี้ได้มีการกำหนดราคาไฟฟ้าในการประจุไฟฟ้าอยู่ที่ 2.60 บาท/หน่วย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานเดียวกันว่า รัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถ EV 4 ล้อ ในปี 2568 อยู่ที่ 225,000 คัน และปี 2573 อยู่ที่ 725,000 คัน รถ 2 ล้อ ปี 2573 จะผลิต 675,000 คัน และรถบัส ปี 2573 จะผลิต 34,000 คัน คิดเป็น 50% ของจำนวนรถบัสที่ผลิตออกมา

ขณะที่ ปตท.เองได้มุ่งไปใน 2 เทรนด์หลัก คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC  และปรับเป้าหมายพอร์ตการลงทุนในอนาคตที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ และธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต อย่างเรื่องของแบตเตอรี่ EV ที่มีทางบริษัทลูก GPSC ลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) แบตเตอรี่ G-Cell

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) จากประเทศไต้หวัน เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ที่จะเป็นโรงงานกลางตั้งในไทยและสามารถรับจ้างผลิตรถ EV ได้หลายยี่ห้อ เบื้องต้นมองเป้าหมายกำลังการผลิตรถยนต์ 4 ล้อ อยู่ที่ 1 แสนคัน/ปี สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปั๊มน้ำมัน ทาง OR ได้จัดตั้งแล้ว 30 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในสิ้นปีนี้

ทางด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวในงานสัมมนาเช่นเดียวกัน ว่า บริษัทได้พัฒนาระบบการชาร์จ EV ให้เร็วขึ้นและการใช้งานของแบตเตอรี่ได้นานขึ้น ปัจจุบันสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ 80% ใช้เวลา 15 นาที และวิ่งได้ 250 กม. และภายในเดือน ก.ค. เตรียมส่งมอบรถไฟฟ้าให้ลูกค้าที่ได้มีการเซ็นต์สัญญาแล้ว 100 คัน สำหรับสถานีชาร์จรถ EV ตั้งเป้าหมายขยายให้ได้ 1,000 สถานี ซึ่งปัจจุบันมี 417 สถานี มีหัวชาร์จ 1,633 หัว เป็นระบบชาร์จเร็วถึง 571 หัว และในอนาคตมีแผนที่จะมุ่งเป้าไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะด้วยเช่นกัน