กรมโรงงานย้ำตรวจความปลอดภัย-ถังเก็บ “หมิงตี้เคมีคอล” กิ่งแก้ว ทุกปี

“สุริยะ” ลงพื้นที่ไฟไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด สมุทรปราการ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเบื้องต้นเสียหาย 700 ล้านบาท ตั้งโรงพยาบาลสนามช่วยชาวบ้านแล้ว พร้อมหาแนวทางป้องกันโรงงานทั่วประเทศ ด้าน กรอ. ส่งรถเคลื่อนที่เร็ว-รถตรวจสภาพอากาศเข้าพื้นที่เกิดเหตุแล้ว ย้ำตรวจประเมินความปลอดภัยถังเก็บทุกปี เว้นช่วงโควิด-19 ให้โรงงานประเมินตนเองใช้ตรวจโดยวิธี Remote Inspector ทางไกลเสริม

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีไฟไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟม และเม็ดพลาสติก มีกำลังการผลิต 36,000 ตัน/ปี ตั้งอยู่ในซอยกิ่งแก้ว 21 กิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ว่า ขณะนี้ตน และนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ลงพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและอยู่ในระยะปลอดภัย

ซึ่งทาง กรอ.ได้ร่วมประชุมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเร่งหาสาเหตุและแนวทางอพยพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วของ กรอ. เข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุเมื่อเช้ามืดที่ผ่านมา พร้อมกับส่งรถตรวจสภาพอากาศเข้าไปในพื้นที่แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาสาเหตุ และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

สำหรับมาตรการเร่งด่วนในขณะนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ที่ กรอ. กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยรอบ พร้อมตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างมาก โดยได้สั่งการตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุให้ผมลงพื้นที่ตรวจสอบว่าโรงงานประเภทดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าทั่วประเทศมีโรงงานประกอบกิจการผลิตเม็ดโฟม ESP (Expandable Polystyrene) จำนวน 2 แห่ง

คือ ที่จังหวัดสมุทรปราการ และโรงงานไออาร์พีซี ที่จังหวัดระยอง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 และได้ตั้งก่อนที่จะมีชุมชนเข้าไปตั้งในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการจะตั้งโรงงานประเภทนี้จะมีการทำ EIA และ EHIA อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้น ได้มีการตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มูลนิธิร่วมกตัญญูในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการในเบื้องต้นแล้ว”

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า เบื้องต้น กรอ.ได้เคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยให้ห่างจากพื้นที่ที่สามารถติดไฟได้ พร้อมกับล้างสารเคมีที่เหลือด้วยน้ำปริมาณมาก ๆ ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นผลิตโฟมก็มีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย ส่วนสารโพลิสไตรีนนั้น เมื่อถูกความร้อนสูง จะให้สาร 2 ชนิด คือ สไตรีน (Styrene) และเบนซีน (Benzene)

โดยเบนซีนเป็นสารพิษอันตราย มีความเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง โดยอาการของผู้ที่ได้รับเบนซีนเมื่อหายใจเข้าไปในระดับสูงและเป็นเวลานาน คือในระยะแรก ๆ จะเกิดอาการซึม วิงเวียน คลื่นไส้ หมดสติ ใจสั่น เมื่อสูดดมเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (Leukemia) ได้

ทั้งนี้ เหตุไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ซอยกิ่งแก้ว 21 ล่าสุดยังไม่สามารถคุมเพลิงได้ และคาดว่ามูลค่าสินทรัพย์ในกองเพลิงเกือบ 700 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บนับสิบราย แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้สั่งเร่งอพยพรัศมี 5 กิโลเมตร เนื่องจากมีสารเคมีกว่า 10 ชนิด เพราะยังคุมเพลิงไม่ได้ เจ้าหน้าที่ถอนกำลังหวั่นระเบิดซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรการดูแลและการบริหารจัดการความเสี่ยงภายในโรงงาน ทาง กรอ.มีแนวทางปฎิบัติมาโดยตลอด โดยจะมีการตรวจด้านความปลอดภัย ถังเก็บทุกปี ซึ่งจะมีช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ให้ทางโรงงานส่งแบบประเมินตนเองเข้ามา รวมถึงใช้ตรวจโดยวิธี Remote Inspector ทางไกลเสริม และหากพบความผิดปกติจะส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจทันที