โรงงานท้อแรงงานขาด 5 แสนคน ไม่รับออร์เดอร์เพิ่มกระทบส่งออก

Photo by AFP

“เดดล็อก” ปัญหาขาดแรงงาน 5 แสนคนช่วงโควิด-19 ยังไร้ข้อสรุป แม้มีออร์เดอร์ส่งออกก็ขยายกำลังผลิตไม่ได้ หอการค้าฯพ้อไม่มั่นใจรัฐรับลูก 3 แนวทางแก้ไข ขนาดวัคซีนเรื่องเร่งด่วนยังไม่มีฉีดให้แรงงานต่างด้าว ด้านการ์เมนต์ขยาดไม่รับเพิ่มหวั่นแพร่โควิด ทยอยเลื่อนส่งออก รอลุ้นฟื้นอีกทีไตรมาส 4

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ภาคเอกชนได้สะท้อนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 500,000 คน จากปัญหาแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ การติดโควิด-19 ไปจนกระทั่งถึงแรงงานในประเทศกลับภูมิลำเนาจากมาตรการล็อกดาวน์หลายครั้งของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นต่าง ๆ จนกลายเป็นข้อจำกัดให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกได้ แม้จะมีความต้องการสินค้าสูงขึ้นก็ตาม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พณ.) ครั้งที่ 2/2564 โดยมีการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.), การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในเรื่องของปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกเพื่อผลักดันให้การส่งออกของประเทศเติบโตตามเป้าหมายระหว่าง 8-10% ปรากฏปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวได้กลายมาเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมร่วมครั้งนี้

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าได้รายงานสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 10-20% จากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินไว้ว่า ขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 500,000 คน โดยหอการค้าได้เสนอแนวทาง 3 ข้อเพื่อแก้ไข ได้แก่

1) ขอให้รัฐบาลเร่งฉีดและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับแรงงานไทยและต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในประเทศ 2) ให้เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลงตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ 3) เร่งรัดการเจรจาเพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU เข้ามาอีก 500,000 ราย พร้อมทั้งการนำเข้าแรงงานใหม่มาโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวและตรวจเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

“การขาดแรงงานกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นแน่นอน โดยเฉพาะเกษตรแปรรูป อาหารต่าง ๆ แต่ปัญหาแรงงานไม่ใช่ปัญหาที่กระทรวงพาณิชย์หน่วยงานเดียวจะแก้ไขได้โดยตรง เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนก็รับทราบอยู่แล้ว ไม่ต้องสะท้อนอะไรอีกแล้ว กระทรวงแรงงานก็รับทราบและใช้ตัวเลขเดียวกันกับหอการค้าคือ 500,000 คน แต่ข้อเสนอที่ให้ไปมันคงแก้ไขได้ยาก สิ่งที่เอกชนเสนอไป เช่น เรื่องวัคซีน ตอนนี้ก็ยังไม่มี ดังนั้นการขอวัคซีนมาฉีดแรงงานต่างด้าวคงเป็นเรื่องยากมาก เพราะขณะแรงงานถูกกฎหมายเองก็ยังฉีดไม่ครบ” นายพจน์กล่าว

ส่วนมาตรการระยะยาวก่อนหน้านี้ หอการค้าไทยได้เคยมีการเสนอให้รัฐบาลต้องจัดเตรียม “กองทุนสำหรับให้ผู้ประกอบการ” โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถกู้เพื่อนำไปลงทุนซื้อเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตทดแทนแรงงาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและลดปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปไก่เพื่อการส่งออก ประมาณ 20,000 คน ขณะนี้หลายโรงงานที่ประสบปัญหามีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้านี้ก็เริ่มกลับมาเปิดการผลิตแล้ว แต่ยังเหลืออีก 1 บริษัทที่เพิ่งจะตรวจสอบพบการแพร่เชื้อล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ยังต้องปิดโรงงานเพื่อดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ห่วงว่าหากในอนาคตยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะกลับมาผลิตในไตรมาสต่อไป

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารอนาคต กล่าวว่า ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร “น่าเป็นห่วงมาระยะหนึ่งแล้ว” ทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดรอบแรก ทำให้แรงงานตื่นตระหนกและเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้วยังไม่กลับมาอีก

ดังนั้นการจะเพิ่มจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมตอนนี้มีทางเดียวก็คือ ต้องอาศัยแรงงานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนและอยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้วเท่านั้น โดยผู้ประกอบการต้องนำแรงงานเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และอาจจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม อาทิ การตรวจโควิด-19 ระบบประกันสุขภาพ และที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนให้กับแรงงานกลุ่มนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่สุด

ด้าน นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยและประธานอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนในไตรมาสนี้จะยังไม่กระทบรุนแรงมาก เพราะเป็นช่วงออร์เดอร์ในประเทศหดตัวและการผลิตเพื่อส่งออกน้อยในไตรมาส 3 โดยผู้ประกอบการได้ระมัดระวังในการรับออร์เดอร์ เท่าที่ตรวจสอบพบว่าส่วนใหญ่รับมาแล้วก็มีการดีเลย์ชิปเมนต์กัน แต่ยังต้องประเมินว่าจะเป็นภาวะชะงักงันหรือไม่

ตอนนี้หลายโรงงานไม่กล้ารับพนักงานใหม่จากที่อื่นเพราะกลัวจะมาพร้อมโควิด-19 ส่วนในโรงงานก็ใช้วิธีการปรับตัวในลักษณะที่ถ้าสมมุติติดเชื้อ 1 คน ก็ปิดเฉพาะโซนเพื่อทำความสะอาดพื้นที่ เอาทุกคนมาตรวจสอบด้วย Rapid Test ถ้าคนอื่นไม่ติดก็ทำงานต่อ แต่หากติดจำนวนมากก็จะปิดโซนผลิตทั้งชั้น หรือทำบับเบิลแอนด์ซีลทั้งโซนทั้งชั้น

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตอนนี้สมุทรสาครขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน โรงงานก็ต้องหาทางแก้ปัญหา อาทิ บางแห่งให้ค่าแรงขั้นสูงถึง 500 บาท จากปกติให้ค่าแรงขั้นต่ำ 300-450 บาท รวมไปถึงการมีสวัสดิการต่าง ๆ ให้ด้วย


ขณะที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเองก็เพิ่งทำหนังสือถึง รมว.แรงงาน ขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 14 พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ให้นำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร โดยอุตสาหกรรมประมงตอนนี้ขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 50,000 คนเช่นกัน