โควิดซัดโรงงานแปรรูปไก่ 5 เดือนส่งออกวูบ 500 ล้าน

ไก่สด-ส่งออก

“โควิด” ถล่มบิ๊กโรงงานแปรรูปไก่ฉุดยอดส่งออก 5 เดือน หด 1.32% สูญ 500 ล้านบาท ด้านสมาคมส่งออกชี้บิ๊กส่งออกไก่ “บีฟู้ดส์” หยุดโรงงานแค่ 1 โรง จากสมาชิก 20 โรง ส่วน “ซีพีเอฟ-ไทสัน” กลับมาผลิตปกติยังมั่นใจปี 2564 ส่งออกทะลุ 9.5 แสนตัน หลังออร์เดอร์อียูยังคงโควตา-ญี่ปุ่นเดินหน้าจัดโอลิมปิก ราคาพุ่งเฉียด 3 พันเหรียญต่อตัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ภาพรวมการส่งออกไก่ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2564 ปรับลดลง 1.32% หรือมีมูลค่า 43,495 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 44,076 ล้านบาท

ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานผลิตและแปรรูปไก่เพื่อการส่งออกหลายแห่งจนต้องดำเนินมาตรการปิดและทำความสะอาดโรงงานเพื่อฆ่าเชื้อ อาทิ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดลพบุรีระบุว่ามีการตรวจสอบพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 บริษัท บีฟู้ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต.ช่องสาลิกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ประมาณ 1 พันคน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้บริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไก่ปรุงสุกแช่แข็งและไก่สดแช่แข็ง ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่สุดเพื่อการส่งออกในเครือเบทาโกร มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 6,700 คน

จากก่อนหน้านี้มีการตรวสอบพบการติดเชื้อของพนักงานของโรงงานผลิตไก่เพื่อการส่งออกรายใหญ่อีก 2 ราย คือ บริษัท ไทสัน โพลทรี่ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจไก่ครบวงจร ประกอบด้วย โรงงานเชือดชำแหละไก่สด และโรงงานแปรรูปอาหารปรุงสุกจากเนื้อไก่ ตั้งอยู่ ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

และยังถือเป็นบริษัทในเครือบริษัท ไทสัน ฟู้ดส์ อิงก์ หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกจากสหรัฐ ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก และถือหุ้นร่วมกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไก่อีก 7 บริษัท และก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ตรวจพบแรงงานที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรีของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การผลิตไก่เพื่อการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกเชิงปริมาณยังมีการเติบโต 6% โดยคาดว่าทั้งปี 2564 จะมีการส่งออกได้ 9.5-9.6 แสนตันตามเป้าหมาย

“การส่งออกไม่ได้ลดลง เพราะในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ส่งออกทุกรายต้องเร่งผลิตเพื่อส่งมอบตามโควตาสหภาพแรงงานยุโรป (อียู) ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนมิถุนายน แต่เรือจะมารับมอบในเดือนพฤษภาคม ก็ต้องเร่งส่งให้ทัน และอีกส่วนต้องส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ทำให้มีความต้องการบริโภคมากขึ้น”

“ส่วนผลกระทบโควิดตอนนี้สมาชิกสมาคม 20 โรงงาน ผลิตได้ครบหมดยกเว้นแค่บีฟู้ดส์ ส่วนโรงงานที่มีตรวจพบเชื้อโควิดไปก่อนหน้านี้ 2 บริษัท คือ ไทสัน และซีพีเอฟ กลับมาเปิดการผลิตตามปกติแล้ว สำหรับบีฟู้ดส์ยังต้องปิด เพื่อดำเนินการตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล”

“อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบแม้จะเป็นโรงงานใหญ่ท็อป 10 ของส่งออกไก่ แต่โรงงานดังกล่าวมีฐานผลิตสำรอง 2 แห่ง ที่สามารถโยกการผลิตไปได้ แต่อาจจะมีเพียงในส่วนของฟาร์มที่อยู่ลพบุรีที่จำเป็นต้องเลี้ยงไก่ต่อไป เพราะยังเชือดไม่ได้โรงเชือดปิด ซึ่งก็อาจจะทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงอาหารสัตว์ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น และเมื่อไก่มีน้ำหนักมากขึ้นอาจจะขายส่งออกไม่ได้แบบปกติ ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเชือดและชำแหละขายเป็นชิ้นส่วนแทน”

ขณะที่ในด้านราคาส่งออกไก่ในปีนี้ก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน เป็นผลจากประเทศคู่แข่งส่งออกไก่ เช่น ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปบางประเทศ บราซิลประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด จึงไม่สามารถจะผลิตส่งออกได้ ทำให้ผู้ซื้อต้องหันมานำเข้าจากไทยแทน ล่าสุดราคาส่งออกไก่ปรับจาก 2,200-2,300 เหรียญสหรัฐต่อตันไปเป็น 2,600-2,800 เหรียญสหรัฐต่อตัน

อย่างไรตาม ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้ คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานหลังจากโควิดแพร่ระบาด ทำให้แรงงานหายไปจากระบบ เบื้องต้นประเมินว่าเฉพาะอุตสาหกรรมนี้ ขาดแรงงานประมาณ 20,000 คน

รายงานข่าวจากวงการไก่ระบุว่า ผลสรุป การตรวจสอบเชื้อโควิดในโรงงานไก่ ซีพีเอฟ จ.สระบุรี ครบ 100% มีคนงานติด ตามที่เป็นข่าว 300 กว่าคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสีเขียว (อาการไม่รุนแรง) 270-280 คน รับการรักษาที่ รพ.สนาม ส่วนสีแดงมีจำนวนไม่เกิน 100 คน ส่งต่อให้ทาง รพ.รับการรักษาแล้ว

ซึ่งจากการที่ทางโรงงานดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยการปิดโรงงานเพื่อทำความสะอาด big cleaning 5 วัน ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงกำหนด ให้ปิดแค่ 3 วัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น

ส่วนการผลิตของโรงงานดังกล่าว แบ่งเป็น การผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และเพื่อส่งออก 50 : 50 ซึ่งภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ก็ได้ปรับย้ายการผลิตไก่ไปผลิตที่โรงงานและฟาร์มอื่นที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง

พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานในโรงงานนั้น จึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการส่งมอบสินค้า ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทจัดทำศูนย์คอลเซ็นเตอร์ไว้คอยให้บริการลูกค้า พร้อมกันนี้ ได้สั่งจองวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 10,000 โดส เพื่อฉีดให้พนักงานตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้วด้วย