GPSC ชูนวัตกรรมสหรัฐ ผุดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน

แบตเตอรี่ SemiSolid

GPSC คิกออฟโรงงานผลิตแบตเตอรี่ป้อนตลาดรถอีวีแห่งแรกในอาเซียน กำลังผลิต 30 MWh/ปี เตรียมอัดงบฯลงทุน 3 หมื่นล้านบาทขยายอีกในพื้นที่อีอีซี มุ่งพัฒนาสู่ 10 GWh/ปี ภายใน 10 ปี หวังลดต้นทุนขนส่ง หนุนนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเดินเครื่องโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี semisolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังการผลิตเริ่มต้น 30 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (MWh/ปี)

ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและการลดช่องว่างของระบบพลังงานทดแทน

ทั้งนี้ บริษัทได้รับสิทธิไลเซนส์ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย นวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ semisolid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยบริษัทจะเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP หรือลิเทียมไอรอนฟอสเฟตที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เหมาะสมกับแอปพลิเคชั่นที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งานจึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายวรวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ตั้งโรงงานและพิจารณาแผนการลงทุนในระยะต่อไป คาดว่าปีหน้าจะเห็นข้อสรุป โดยเบื้องต้นมองศักยภาพในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง

ขณะเดียวกัน บริษัทมองถึงแผนการขยายกำลังการผลิตจาก 30 MWh/ปี สู่ขนาด 10 GWh/ปี โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุน 30,000 ล้านบาท ใช้เวลาพัฒนา 10 ปีเพื่อรองรับให้สอดรับต่อแผนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงงานแห่งนี้ มีขีดความสามารถผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานได้ใน 3 ระดับ คือ 1.G-Cell ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ battery pouch cell 2.ผลิตภัณฑ์ G-Pack ที่มีการนำ battery pouch cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ battery module และ pack

พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่หรือ battery management system (BMS) ร่วมด้วย สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อาทิ รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า

และ 3.กลุ่ม G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานสำหรับระบบสำรองไฟฟ้า (UPS) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ blockchain (บล็อกเชน) เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

“ลูกค้าเราจะเน้นทั้งในกลุ่ม ปตท. กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของสินค้า”

“โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตและใช้งานระบบ ESS และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศปี 2573” นายวรวัฒน์กล่าว