ฟ้าทะลายโจรบูมจัด CP แจม ราคาพุ่ง-รัฐหนุนปลูกผลิตยาต้านโควิด

แฟ้มภาพ

“ฟ้าทะลายโจร” บูมจัด “ซีพี” โดดลุย ปลูก 100 ไร่ ผลิตยา 30 ล้านแคปซูลแจกต้านโควิด ชี้ดีมานด์พุ่ง สินค้าขาดตลาด-ราคาพุ่ง คนแห่ปลูกดันราคาเมล็ดพันธุ์กระฉูด 4 เท่าตัว กรมวิชาการเกษตรหนุนเกษตรกรปลูกเมล็ดพันธุ์ขึ้นทะเบียน “พิษณุโลก 5-4 พิจิตร 4-4” ป้อนกระทรวงสาธารณสุขผลิตยา เล็งต่อยอดเชิงพาณิชย์

สรรพคุณของฟ้าทะลายโจรพืชสมุนไพรไทยที่สามารถใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอ เจ็บคอ และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต้านการอักเสบ ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจกจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษา และกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ ความต้องการยาฟ้าทะลายโจรในตลาดจึงมีเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาก็ปรับสูงขึ้นหลายเท่า ส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ต้นฟ้าทะลายโจรแพงขึ้นถึงเมล็ดละ 60-80 สตางค์ สูงสุด 1.00-1.50 บาท/เมล็ด จากเดิม 20 สตางค์ หรือแพงขึ้น 4 เท่าตัว และเริ่มขาดตลาด นอกจากกระแสบูมฟ้าทะลายโจรจะดึงดูดใจภาคเอกชนให้หันมาสนใจสมุนไพรชนิดนี้มากขึ้นแล้ว ในส่วนของภาครัฐก็ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นด้วย

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า บริษัทจัดทำโครงการปลูกฟ้าทะลายโจรบนที่ดิน 100 ไร่ ที่ จ.สระบุรี คาดว่าจะใช้เวลา 100 วัน นับจากนี้ไป (2 ส.ค.) จากนั้นจะนำไปแปรรูปและแจกจ่ายยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 30 ล้านแคปซูล ฟรีให้ประชาชนและชุมชน เพื่อรักษาการติดเชื้อรับมือสถานการณ์วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดรุนแรง

นายเมธา สิมะวรา ประธานกลุ่มสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้วัตถุดิบสำหรับผลิตสมุนไพรยาฟ้าทะลายโจรราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ทั้งในส่วนของเมล็ดพันธุ์ ใบแห้ง รวมทั้งแคปซูลที่มีแนวโน้มว่าจะปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่ายาฟ้าทะลายโจรจะเริ่มขาดตลาดภายในเดือน ส.ค. 2564 นี้ จากความต้องการที่สูงขึ้น ขณะที่เกษตรกรไม่สามารถปลูกได้ทันความต้องการ จากการระบาดของโควิด จากนั้นช่วงเดือน ต.ค. ปริมาณฟ้าทะลายโจรจะมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพาะปลูกซึ่งใช้เวลาสั้นเพียง 4 เดือน สามารถนำใบแห้งส่งเข้าโรงงานเพื่อผลิตยาออกจำหน่ายได้

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแคปซูล โรงงานผู้ผลิตได้ปรับตัวรับสถานการณ์ โดยปรับรูปแบบจากแคปซูลเป็นเม็ด หรือลูกกลอนแทน เพื่อให้ยาฟ้าทะลายโจรไม่ขาดตลาด ส่วนขั้นตอนการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้วิธีแบบจดแจ้งตามตำรับยาที่มีอยู่เดิม ระยะเวลาการยื่นจึงขอไม่นานนัก

ทั้งนี้ ตลาดสมุนไพรของไทยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตยังไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น หรือเรียกได้ว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ตกทั้งกระดาน มีเพียงสมุนไพรบางตัวที่เติบโตโดดเด่นในขณะนี้ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น ขิง กระชายขาว เป็นต้น

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันการปลูกฟ้าทะลายโจรในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ชาวบ้านปลูกเอง หรือที่มีตามท้องตลาดซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นบ้าน ส่วนเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรที่ขึ้นทะเบียนมีเพียง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์พิษณุโลก 5-4 และสายพันธุ์พิจิตร 4-4 โดยกรมวิชาการเกษตรได้เร่งรัดงานวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต้นฟ้าทะลายโจร 2 สายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณสารสำคัญคือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ มากกว่าที่มาตรฐานยาสมุนไพรไทยกำหนด ว่าควรมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 1% โดยน้ำหนักแห้ง

ล่าสุดอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรทั้ง 2 สายพันธุ์ ไว้เป็นทางเลือกในการขยายกล้าพันธุ์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทางยา โดยนำร่องปลูกบนพื้นที่ 2 หมื่นไร่ คาดว่าจะใช้เวลาปลูกและเก็บเกี่ยวจะเฉลี่ย 80 วัน ประมาณเดือน มี.ค. 2565 จะเก็บเมล็ดได้ 400 กก. หรือคิดเป็น 6-7 แสนเมล็ด โดยกรมจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป้อนให้กับกระทรวงสาธารณสุข ผลิตยาต่อสู้กับโควิด-19 รวมถึงพัฒนาสมุนไทยยาไทยเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต


การปรับปรุงสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจร 2 พันธุ์นี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547-2548 โดยรวบรวมมาจาก 9 แหล่งเพาะปลูก คือ ชัยนาท เชียงใหม่ นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ พิจิตร พิษณุโลก ราชบุรี สระแก้ว และสระบุรี ปลูกในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ผสมตัวเองแยกต้น จำแนกความต่างทางพันธุกรรมด้วยวิธี HAT-RAPD จากนั้นปี 2552-2553 ในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร พัฒนาสายพันธุ์พิจิตร 4-4 พบว่ามีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง 12.20 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม และสายพันธุ์พิษณุโลก 5-4 มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง 8.89 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม