ผุด “แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์” แก้ปมโรงงานติดเชื้ออุ้มส่งออก

“สุชาติ” เตรียมเสนอแฟกตอรี่แซนด์บอกซ์เข้า ศบค.ช่วยส่งออกหลัง โควิด-19 ระบาดไม่หยุด โรงงานอุตสาหกรรมหวั่นกระทบซัพพลายเชน“เอสเอ็มอี” อุตสาหกรรมอาหาร ผวาแรงงานกลัวโควิดหนีกลับบ้านฟากยักษ์ CPF งัดมาตรการดูแลคนงานอย่างดี จ่ายเงินเพิ่มชูโรงงานเป็นพื้นที่ปลอดภัย อุตฯรถยนต์เพิ่มค่าแรง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 16 สิงหาคม 64 จะเสนอวาระมาตรการรักษาระดับการส่งออกผ่านมาตรการ Factory Sandbox เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาด้วย

ทั้งนี้ มาตรการ Factory Sandbox จะโฟกัสไปที่โรงงานส่งออก ตรวจเชิงรุก 100% แยกคนป่วย แยกปลาแยกน้ำ ฉีดวัคซีนให้ครบ 100% เพื่อรักษาการจ้างงานและดำเนินธุรกิจส่งออกต่อได้ ภาคส่งออกเดินได้ต่อไป คาดว่าถ้าที่ประชุมเห็นชอบจะเริ่มมาตรการได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ ได้ผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบหมดแล้ว ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย

“ขณะนี้มีบริษัทส่งออกขนาดใหญ่ให้ความสนใจจำนวนมาก โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมส่งออก 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์”

นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการตรวจ รักษา ควบคุมและดูแล โดยเข้าไปตรวจ RT-PCR ในโรงงาน 100% แยกคนติดเชื้อออกจากโรงงานและเข้าสู่ระบบรักษาในโรงพยาบาลในเครือประกันสังคม หลังจากนั้น รัฐบาลจะจัดสรรฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ต่อจากนั้นให้ผู้ประกอบการจัดซื้อชุดตรวจ ATK พนักงานในโรงงานทุกสัปดาห์ และต้องควบคุมเส้นทางการเดินทางจากโรงงานไปที่พัก-ที่พักไปโรงงาน หรือ bubble and seal

หากผู้ประกอบการปฏิบัติได้ตามมาตรการทุกข้อจะให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกใบ Certificate ให้โรงงานไว้สำหรับยืนยันกับต่างประเทศ เพื่อรับรองว่าโรงงานแห่งนี้ปลอดเชื้อโควิดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยจะเริ่มจากอุตสาหกรรมส่งออก 4 สาขา ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และชลบุรี

CPF อัดเงินเพิ่ม

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมต้องกลับมาวางมาตรการดูแลอย่างเป็นระบบ อย่าง CPF แม้จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานได้ แต่มีโอกาสที่จะกลับมาระบาดได้อีกจึงประมาทไม่ได้ “จุดสำคัญที่สุดก็คือ มองพนักงานเป็นหลัก ถ้าเป็นคนของเราก็ต้องดูแลอย่างดี การที่เข้ามาทำงานที่โรงงานจะต้องให้เค้ารู้สึกปลอดภัยกว่าอยู่บ้าน ถ้าโรงงานอันตรายก็จะไม่มีคนกล้าเข้ามาทำงาน”

ดังนั้น CPF ได้วางระบบรองรับไว้ทั้งหมด ตั้งแต่การทำ bubble and seal โรงงานต้องมีระบบเช็กเพิ่มเรื่องการสุ่มตรวจโดยใช้ antigen test kit การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมี 2 แห่งที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 400 เตียง และขยายได้ถึง 1,000 เตียง กับโรงพยาบาลสนามที่มีนบุรี เฟส 1 อีก 250 เตียง และกำลังปรับปรุงเพิ่มเติมเผื่อไว้ 150 เตียง สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับสีเหลืองเข้ม

นอกจากนี้ หากแรงงานที่ต้องเข้า community isolation แล้วต้องแยกจากครอบครัว CPF จ่ายเงินเพิ่มให้คนละ 2000 บาทต่อเดือนจากเงินเดือน ยกตัวอย่าง คนงานอาจจะค่าจ้างเดือนละ 10,000 กว่าบาท ก็ให้เพิ่มอีก 2,000 บาท และอาหาร 3 มื้อ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ส่งออกไปรักษาที่โรงพยาบาลข้างนอก

“ถ้าโรงงานถูกชุมชนมองเป็นผู้ร้ายน่ากลัวก็จะไม่มีคนกล้าไปผลิต จะเกิดอะไรขึ้นตามมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ถ้าโชคดีรัฐบาลพยายามเร่งฉีดวัคซีน สถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ตอนนี้ยังดูไม่ออก”

ขณะที่ นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ “ซูเปอร์ ซีเชฟ” กล่าวว่า ได้วางมาตรการป้องกันล่วงหน้าไว้มาก มีเตรียม FAI/ FAQ ไว้หลายร้อยเตียง แต่ใช้จริงน้อยมาก ผลการตรวจเชิงรุกเป็นที่น่าพอใจมาก โควิด-19 รอบนี้จึงไม่รุนแรงเท่ารอบเมื่อตอนต้นปี 2564

“เราตรวจเชิงรุกกันอาทิตย์ละหลายพันราย ก็เพื่อสร้างขวัญ-กำลังใจให้กับพนักงานที่ยังทำงานอยู่ข้างใน ว่าโรงงานเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์รอบนี้ คนไทยติดเยอะมาก และติดจากข้างนอก หรือในครอบครัวค่อนข้างเยอะ โรงงานในมหาชัย พนักงานส่วนใหญ่มีความตื่นตัวและระวังค่อนข้างดีมาก”

หวั่นกระทบ Supply Chain

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้จัดทำ community isolation เพื่อรองรับทั้งในส่วนของพนักงานและประชาชนในชุมชนใกล้เคียง โดยได้ปรับคลังสินค้าราษฎร์บูรณะเป็นศูนย์พักคอย จำนวน 200 เตียง เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัว และชุมชนในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ เพิ่งเปิดบริการเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 โดยทำร่วมกับโรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ (IMH)

ส่วนนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย มองว่า ประเด็นสำคัญคือผลกระทบต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่จะต้องเตรียมระบบเพื่อป้องกันการระบาด โดยอุตสาหกรรมอาหารมีผู้ประกอบการที่เป็น SMEs จำนวน 127,378 ราย หรือคิดเป็น 99.4% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรม

มีการจ้างงานสูงถึง 478,633 ราย หรือคิดเป็น 47.12% ของการจ้างงานทั้งหมด และช่วยสร้างผลผลิตมวลรวม (GDP) ประมาณ 262,685 บาท คิดเป็น 42.7% ของ GDP

ดังนั้น หากพบคนงานเชื้อโควิด-19 แล้วต้องปิดโรงงานไปเรื่อย ๆ ก็จะกระทบการผลิตอาหาร ถือเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่อง “food security” ในที่สุดก็จะกระทบต่อ suppply chain เพราะในอุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างกว้างเป็นใยแมงมุม โดยผู้ที่อยู่ล่างสุดก็คือ เกษตรกร

“ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน ตอนนี้ SMEs บางรายแค่เพียงปิดล็อกดาวน์รอบเดียวก็ไม่รอดแล้ว บางรายดีหน่อยรอดมาได้ ถ้าเจอปิดรอบ 2 ก็อาจไปไม่ไหว ที่สำคัญ การจะไปขอกู้เงินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” นายวิศิษฐ์กล่าว

มหาชัยทำ Labor Matching

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออนุสรณ์กรุ๊ป ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว “ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมกระสุนจะหมดแล้ว จะไม่ไหวกันแล้ว เพราะพนักงานติดเชื้อจำนวนมาก สินค้าผลิตได้ลดลง ยอดขายลดลง หลายอุตสาหกรรมกำลังจะล่มสลาย คนจะตกงานกันอีกจำนวนมาก”

ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ควรจะมีมาตรการในเรื่องการ “พักชำระหนี้ที่เป็นรูปธรรม” เพราะปัจจุบันมาตรการพักชำระหนี้มีเพียง ธนาคารออมสิน ที่ดำเนินการ นอกนั้นมีแต่ถูกธนาคารทวงหนี้

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาครที่ยังมียอดขายไปได้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร พยายามเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักผ่านทาง “โครงการงานหาคน คนหางาน” หรือ labor matching ซึ่งแรกเริ่มเป็นแนวคิดจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมานานแล้ว แต่ทางสมุทรสาครไปทำให้เกิดรูปธรรมขึ้นมา

“ผมยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ยอดขายลดลง 50% เพราะประชาชนไม่มีกำลังซื้อ บอกอีก 3 เดือน ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้คงต้องเริ่มปลดพนักงาน แต่อุตสาหกรรมอาหารยังยอดขายดี ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ต้องแบกรับภาระมาก พนักงานไม่ต้องตกงาน ผู้ประกอบการอาหารก็ไป ‘ยืมพนักงาน’ ของโรงงานเฟอร์นิเจอร์มา

เช่น พนักงานคลังสินค้า ก็ให้มาดูแลงานคลังสินค้าเช่นเดียวกัน จะได้ไม่ต้องมาฝึกใหม่ โดยอุตสาหกรรมอาหารจ่ายเงินเดือน และประกันสังคมอยู่กับบริษัทเดิมต่อเนื่อง พอผ่านไป 3 เดือน หากสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น โรงงานเฟอร์นิเจอร์ต้องการคนงานกลับไป อุตสาหกรรมอาหารก็จะคืนพนักงานให้ เป็นการช่วยเหลือกัน และไม่ต้องปลดพนักงาน เราเริ่มมาประมาณ 2 เดือนแล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ชิ้นส่วนรถเพิ่มค่าแรง

ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานระยะหลังเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ยิ่งระยะหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นมาก บางโรงแก้ปัญหาดีทำ bubble and seal ได้ผล ก็สามารถแยกคนป่วยออกไปได้ แต่บางโรงไม่มีมาตรการที่ดี ส่งผลให้แรงงานเป็นกังวลหนีกลับบ้านไปก็เยอะ ตอนนี้โรงงานขนาดใหญ่ที่กังวลเรื่องแรงงาน มีการสร้างแรงจูงใจ อาทิ สวัสดิการรวมถึงเพิ่มเบี้ยขยัน บางโรงให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 600 บาทก็มี

นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดจะส่งผลกระทบและอาจส่งผลให้กลายเป็นปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ แต่ในส่วนของไทยซัมมิตยังปกติ ส่วนแนวโน้มในครึ่งปีหลังน่าจะมีการผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และยอดขายรถยนต์ที่ 800,000 คันนั้นก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน