พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ นำ NIA ปั้น EEC ฮับสตาร์ตอัพ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องยอมรับศักยภาพของนักคิดรุ่นใหม่อย่าง “สตาร์ตอัพ”

เพราะนี่กำลังจะกลายเป็นองค์ประกอบใหม่นอกเหนือจากความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกประเทศไทย ด้วยการดึงเอาสตาร์ตอัพเหล่านี้เข้ามาเป็นผู้ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและซัพพลายเชน โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)

เพื่อไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ถึง “โครงการพัฒนาศักยภาพของสตาร์ตอัพในเขตพื้นที่ EEC” ที่จะถูกกำหนดเป็นฮับนวัตกรรมของประเทศในอนาคต

จุดเริ่มต้นและเป้าหมาย

ปัจจุบันสตาร์ตอัพที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักอยู่ในธุรกิจด้านดิจิทัล เป็นผู้พัฒนาทำแอปพลิเคชั่น สร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งก็กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยจะเข้าไปสนับสนุนอุตสาหกรรมสำคัญอย่างเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)

ซึ่งได้เห็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นในการนำเทคโนโลยี งานวิจัยต่าง ๆ เข้าไปช่วยทางด้านการเกษตร เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมอวกาศ 2 ตัวนี้ได้เริ่มมีการนำเอา AI เข้ามา แน่นอนว่า 3 อุตสาหกรรมนี้คือหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve) ที่จะเป็นตัวทำให้อุตสาหกรรมของไทยไปถึง 4.0 ได้

แต่เราก็พบว่าหนึ่งในปัญหาคือสตาร์ตอัพเลือกที่จะอยากอยู่ในกรุงเทพฯมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น EEC ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด จึงควรที่จะเป็นแหล่งสร้างสตาร์ตอัพขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตอุตสาหกรรมเหล่านี้ และดันให้พื้นที่ EEC แห่งนี้เป็น “ฮับนวัตกรรม”

ดังนั้น NIA จึงเกิด “โครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ตอัพในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” หรือพัฒนาศักยภาพสตาร์ตอัพขึ้นมานั่นเอง เริ่มมาแล้ว 4-5 ปี ซึ่งเราก็พบอีกว่าใน EEC เองมีการนำเอาเรื่องของ AI หุ่นยนต์ พวกระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่แล้ว

ปักหมุดที่ EEC

อย่างโครงการที่เราทำเป้าหมายคือ การสร้างเครือข่ายของการพัฒนาศักยภาพของสตาร์ตอัพในเขตพื้นที่ EEC ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกระตุ้นให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่มีการเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัพที่สำคัญในภูมิภาค

ตามแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ที่ได้พัฒนาแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2564)

ดังนั้น แล้ว NIA จึงให้ความสําคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสตาร์ตอัพรายสาขา เพื่อสร้างความเข้มแข็ง strong sectoral innovation system (SIS)

เราต้องการสร้างโอกาสให้สตาร์ตอัพกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ “ดีปเทค” ในกลุ่ม ARI-Tech ประกอบด้วยเทคโนโลยีใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.artificial intelligent (AI) 2.robotics 3.immersive, IOT

ซึ่งเขาจะได้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด ขยายโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่ EEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่ศักยภาพที่เอื้อต่อการเติบโตและเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งอนาคตที่สำคัญของประเทศ

“ที่เราไม่ต้องการให้ขยายไปจังหวัดอื่นก็เพราะดีปแทคเหล่านี้ เขาจะเป็นตัวดึงอุตสาหกรรมเข้ามาได้อย่างมาก EEC มีศักยภาพสูงสามารถปั้นให้เป็นฮับนวัตกรรมได้ไม่ยาก

และเราควรเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของประเทศให้เป็นแหล่งรวมนวัตกรรม สร้างการเรียนรู้ให้ครบลูป

ขณะเดียวกัน ในแต่ละจังหวัดเขาก็มีนโยบายและนำเอาเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เช่นกัน ด้วยการจับมือกับหน่วยงานมหาวิทยาลัย นักวิจัย”

ร่วมกันบูรณาการ

เมื่อเรามีเป้าหมายชัดเจนไปที่ EEC และแต่ละจังหวัดก็มีแผนดันให้จังหวัดของตนเองเป็นเมืองนวัตกรรมเช่นกัน เราได้เริ่มดําเนินงาน “โครงการพัฒนาสตาร์ตอัพรายสาขา”

สร้างสตาร์ตอัพให้เติบโตในกลุ่มเศรษฐกิจเป้าหมายของประเทศ สร้างแพลตฟอร์มพัฒนาการเติบโตและลงทุนของสตาร์ตอัพผ่านกิจกรรมการพัฒนาและบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ

ภายใต้ระบบพี่เลี้ยงกับทุกภาคส่วนจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยบูรณาการ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย)

รวมถึงระดับท้องถิ่นอย่างเทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและบรรจุเข้าไปเป็นนโยบายในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ

เช่น เชียงใหม่ ที่ประกาศเป็นเมืองนวัตกรรม เก่งทางด้านอาหาร อวกาศ ขอนแก่น ที่เก่งทางด้านน้ำตาล เกษตรฟาร์มมิ่ง หรือจะเป็นพัทลุง เมืองนวัตกรรมเพื่อสังคม ส่วนกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองนวัตกรรมด้านบริการ ไอที เป็นต้น

และอีกหลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการดำเนินงานจะช้าจะเร็วต่างกัน แต่ทุกจังหวัดอยากใช้เรื่องของนวัตกรรมเข้ามาพัฒนา ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องของนวัตกรรมเองก็มีอุปสรรค

เพราะในเชิงพื้นที่เองอาจยังคงไม่มีความเข้าใจ เราจึงต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมกลุ่ม NGO สร้างการรับรู้ว่านวัตกรรมคือการนำแพลตฟอร์มเข้าไปพัฒนา

ปั้นน้ำใหม่เข้าระบบ

เราได้งบประมาณจากภาครัฐมาเพื่อช่วยในการพัฒนาตลาด 300-400 ล้านบาท ก็จะมีการพาเหล่าสตาร์ตอัพจับคู่ธุรกิจ (business matching) อย่างตอนนี้เรามีกว่า 40 บริษัทที่ผ่านโครงการ NIA Academy จากเรา

ส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษาที่เลือกทางเดินให้ตัวเอง โดยการกระโดดเข้ามาสู่การเป็นสตาร์ตอัพ นอกเหนือจากการเรียนต่อ รายใดจะไปต่ออยากเป็นเช็กเมกเกอร์

อยากตั้งบริษัทเราก็จะดันเขาไปให้สุด มีทุนสนับสนุนให้และดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเชื่อมโยงการทำแบบนี้เพราะเรา “ต้องการน้ำใหม่”เข้าสู่ระบบ

ไม่เพียงเท่านั้นสตาร์ตอัพเหล่านี้จะได้สิทธิประโยชน์จากรัฐ อย่างการขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขณะที่เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่แค่เพียงการเป็นนักธุรกิจ

แต่พวกเขาต้องการที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อไปสู่การเป็น “ยูนิคอร์น” ซึ่งมีรายได้ระดับ 1,000 ล้านบาทจากจุดเริ่มต้นสำหรับบางธุรกิจที่มีรายได้ขั้นแรกแค่ 100 ล้านบาทเท่านั้น
และเมื่อใดที่ประเทศไทยเกิดยูนิคอร์นขึ้นมา การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีเทคโนโลยีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เข้ามา เศรษฐกิจของประเทศจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ไม่ช้า

งบฯ R&D 1% จากรัฐ

มีการพูดถึงตัวเลขที่ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา โดยการนำเอางบประมาณส่วนหนึ่ง หรือ 1% เข้ามาช่วยกันนำงานเหล่านี้ผลักดันกันออกมา ล่าสุดก็มีการสนับสนุนงบฯเข้ามาได้ในสัดส่วนประมาณ 1.1% แล้ว

ถือว่ารัฐให้ความสำคัญแต่นี่มันไม่ได้การันตีว่างานวิจัยจะทำให้เกิดนวัตกรรม พูดง่าย ๆ ก็คืองบฯที่นำมาจะสนับสนุนในส่วนของงานวิจัยเท่านั้น หลังจากนั้น มันคือหน้าที่เรา เราก็ต้องสร้างบริษัทขึ้นมาหรือสร้างสตาร์ตอัพนั่นเองเพื่อให้บริษัทเหล่านี้เอางานวิจัยมาขยายผลต่อ