พิษโควิดแรงงานคืนถิ่น 1.6 ล้านคน หนุนเครื่องจักรกลเกษตรขายทะลัก

FILE PHOTO : Tongpradit Charoenphon / Pixabay /

แรงงาน 1.6 ล้านคนหนีพิษโควิดคืนถิ่น หวนกลับทำนา ไร่ข้าวโพด สวนยาง-ปาล์ม หนุนตลาดเครื่องจักรกลทางการเกษตรคึกคัก ยอดขายรถแทรกเตอร์ รถไถนาโตพรวด ทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ “คูโบต้า” เจ้าตลาด “อิเซกิ-แมสซี่เฟอร์กูสัน” ตามติด ชี้ตลาดยังมีแนวโน้มสดใสเพราะแรงงานขาดแคลน เกษตรกรหัวใสใช้วิธีรวมกลุ่มกันลงขันซื้อใช้เอง-รับจ้างสร้างรายได้เสริม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจบริการ โรงงาน และสถานประกอบการจำนวนมาก ปิดกิจการ เลิกจ้าง ลดจำนวนพนักงาน จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงาน

โดยเฉพาะในภาคบริการและอุตสาหกรรม กลับถิ่นบ้านเกิดไปสู่ภาคเกษตร ประมาณ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยการย้ายคืนถิ่นต่อปีในช่วงก่อนโควิดระบาดที่ 5 แสนคน ส่งผลให้ภาคเกษตรในพื้นที่หลายจังหวัด ทั้งในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ คึกคักขึ้น ขณะที่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีการเกษตร ยาปราบศัตรูพืช ฯลฯ ได้รับอานิสงส์ถ้วนหน้า โดยเฉพาะตลาดเครื่องจักรกลการเกษตร

4 จังหวัดอีสานยอดขายพุ่ง 10%

นายสมชาติ พงคพนาไกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยแทรกเตอร์ จำกัด (คูโบต้าเจริญชัย) จ.อุบลราชธานี และประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยอดขายเครื่องจักรกลทางการเกษตรอย่างรถคูโบต้า ยอดขายดีขึ้นมาก

โดยภาพรวมของบริษัทและบริษัทในเครือ 29 สาขา ใน 4 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งที่ตกงานเดินทางกลับภูมิลำเนาในภาคอีสานมาทำการเกษตร

โดยส่วนใหญ่จะซื้อในลักษณะจ่ายเงินดาวน์ และผ่อนค่างวดรายเดือน สำหรับประเภทรถที่ขายดีส่วนใหญ่เป็นแทรกเตอร์ ที่ได้รับความนิยมสูงคือ รุ่น 40 แรงม้า ราคารวมอุปกรณ์ 7-8 แสนบาท รถเกี่ยวข้าว DC-70 รวมอุปกรณ์ ราคากว่า 9 แสนบาท

“ภาวะปกติการขายรถแทรกเตอร์ และรถเกี่ยวข้าว จะขายได้ในช่วงเฉพาะฤดู บางเดือนขายได้มาก บางเดือนแทบขายไม่ได้เลย โดยบริษัทเครือเจริญชัยมียอดขายเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เฉพาะรถแทรกเตอร์ขายได้เฉเลี่ย 3,000 คัน/ปี ซึ่งอุบลราชธานี ยอดขายโดดเด่นที่สุด”

เหตุผลหนึ่งที่ขายดีเป็นเพราะรถมือสองประเภทนี้แทบไม่มีขายในตลาด เพราะความต้องการของลูกค้าในภาคเกษตรสูง แทบผลิตไม่ทัน เรียกได้ว่ายอดขายเวลานี้เติบโตสวนกระแสโควิด แม้เศรษฐกิจไม่ดี ภาคการเกษตรจะดี เพราะยังคงดำเนินไปได้เรื่อย ๆ และยิ่งค่าเงินบาทลดลง ภาคการเกษตรยิ่งดีขึ้นอีก เพราะการส่งออกข้าวทำได้ดียิ่งขึ้น สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้

“แม้ราคาพืชผลทางการเกษตรอาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่ แต่การกลับมาทำเกษตรของประชาชนจากสถานการณ์โควิด อย่างครึ่งปีแรกของปี 2564 เกษตรกรส่วนใหญ่เอาตัวรอดได้ เลี้ยงชีพได้ แม้ไม่ได้ร่ำรวย แนวโน้มในฤดูเก็บเกี่ยวไตรมาสสุดท้ายของปี หรือครึ่งปีหลัง ภาพรวมน่าจะยังทรงตัว ยอดขายรถทางการเกษตรไม่น่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน แต่ถ้าเพิ่มขึ้นจะทำยอดขายได้เยอะมาก”

“เชียงใหม่-เชียงราย” โต 20%

นายวัชระ มานิตปฏิภาณ เจ้าหน้าที่ขายอาวุโส เขตเหนือตอนบน บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (2564) ยอดขายรถแทรกเตอร์คูโบต้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เติบโตเพิ่มขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ 2563

ปัจจัยสำคัญคือ ปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรขาดแคลนหนัก บวกกับสถานการณ์โควิด-19 แรงงานต่างด้าวไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ทำให้เกษตรกรหันมาใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรอย่างรถแทรกเตอร์มากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้แรงงานที่หายไปจากระบบ

นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายรถแทรกเตอร์ของคูโบต้าเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วง 7 เดือนนี้ คือ แรงงานจากกรุงเทพฯที่ตกงานจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เป็นจำนวนมาก

และหันมาทำอาชีพเกษตรกรทั้งทำนา ทำไร่ และทำสวน โดยทางบริษัทมีบริการสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรกลการเกษตรของบริษัทเอง คือ บริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด ที่ให้บริการกับลูกค้าเกษตรกรอย่างครบวงจร

นายวัชระกล่าวว่า ยอดขายเครื่องจักรกลทางการเกษตรของดีลเลอร์คูโบต้าในภาคเหนือตอนบนเติบโตขึ้นชัดเจน อย่างดีลเลอร์ในพื้นที่เชียงใหม่ซึ่งมี 2 ราย และเชียงราย 1 ราย ภาพรวมในการทำการเกษตรส่วนใหญ่ทำนาข้าวกว่า 50% อีก 50% ทำไร่ข้าวโพด สวนลำไย และอื่น ๆ

ในส่วนของบริษัทนั้นนอกจากยอดขายรถแทรกเตอร์ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้จะเติบโตขึ้นแล้ว เครื่องจักรกลทางการเกษตรคูโบต้าประเภทอื่น ๆ อาทิ รถเกี่ยวข้าว รถดำนา ในพื้นที่เชียงใหม่ ยอดขายก็เติบโตเพิ่มขึ้น 50% เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ โดรนทางการเกษตรที่บริษัทเพิ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อต้นปี 2564 ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ภาคใต้ขายดีไม่น้อยหน้า

สำหรับในภาคใต้ นายวินัย ปิ่นทองพันธุ์ ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปิ่นทองอะไหล่ ผู้แทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์อิเซกิ แมสซี่เฟอร์กูสัน อุปกรณ์และอะไหล่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า หลังรัฐบาลกำหนดมาตรการให้ประชาชนทำงานอยู่กับบ้าน (work from home)

ประชาชนส่วนหนึ่งใช้เวลาว่างทำงานในภาคการเกษตร ทั้งปรับปรุงพื้นที่นา สวนผลไม้ ยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ส่งผลดีต่อธุรกิจเครื่องมือจักรกลการเกษตร อุปกรณ์ทางการเกษตรอย่างมาก โดยยอดขายของบริษัทเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจนถึงปี 2565

เฉพาะช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เครื่องจักรกลการเกษตร ทั้งรถ เครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร ทั้ง 2 ยี่ห้อ คือ อิเซกิ กับแมสซี่เฟอร์กูสัน ยอดขายเติบโตถึง 50% จากปี 2563 ยอดขายขยายตัวขึ้น 30% โดยเครื่องจักรกลขนาดกลางเติบโตสูงสุด รองลงมาเป็นเครื่องจักรขนาดเล็ก ภาพรวมของ หจก.ปิ่นทองอะไหล่ ขายได้ 60-70 คัน ระดับราคาอยู่ที่ 500,000-600,000 บาท/คัน

“สำหรับพื้นที่ จ.พัทลุง จากการจดทะเบียนที่สำนักงานขนส่งจังหวัดพัทลุง รถแทรกเตอร์ รถไถนา เกี่ยวข้าว ยอดจำหน่ายประมาณ 100 คัน อันดับ 1 เป็นยี่ห้อคูโบต้า มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ หจก.ปิ่นทองฯ เป็นตัวแทนขาย 2 ยี่ห้อ คือ อิเซกิ และแมสซี่เฟอร์กูสัน

มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ประมาณ 30% ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดดำเนินการเข้าปีที่ 5 แต่เดิมเครื่องจักรยันมาร์ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ด้วย แต่ระยะหลังเริ่มหายไปจากตลาดโดยไม่ทราบเหตุผล”

เกษตรกรรวมกลุ่มลงขันซื้อ

นายวินัยกล่าวว่า จากที่สามารถทำยอดขายและผลประกอบการได้ดีสวนทางเศรษฐกิจ ล่าสุดบริษัทได้ลงทุนขยายสาขาแห่งที่ 2 ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางของ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ เบื้องต้นใช้เป็นศูนย์บริการและอำนวยความสะดวกหลังการขาย ตั้งเป้าการเปิดสาขาแห่งที่ 2 จะทำให้ยอดขายเติบโตขึ้นอีก 50% ในปี 2565”

ทั้งนี้ ปัจจัยที่หนุนให้ตลาดเครื่องจักรกลทางการเกษตรมียอดขายเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรจำนวนหลายราย และการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรในเครือข่ายเครือญาติ โดยรวมตัวกันซื้อรถจักรกลไว้ทำการเกษตรในเครือข่าย

ควบคู่กับนำไปรับจ้างทำการเกษตรนอกเครือข่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เพราะเครื่องจักรกลการเกษตรส่วนใหญ่เป็นรถอเนกประสงค์ มีตัวต่อพ่วง ตัวลากจูง สามารถนำไปทำงานได้เกือบทุกประเภท ตั้งแต่ไถนา พรวนดิน เกี่ยวข้าว อัดฟาง บดทางปาล์ม ลากไม้ ลากรถพ่วง ฯลฯ โดยรวมตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในภาคใต้มีแนวโน้มเติบโตได้อีก