โรงงานไบโอดีเซลอ่วมเจอสามเด้ง เตรียมหารือ กนป.แก้ปมปรับสูตรดีเซล B6

ปาล์ม

กนป.นัดถก 14 ต.ค.นี้ สยบปมปรับสูตรลดการใช้ CPO ผลิตไบโอดีเซล B6 พร้อมเคาะขยายมาตรการหนุนส่งออกถึงสิ้นปี 2564 ด้าน ส.ผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยอ่วม ผลกระทบ 3 เด้ง โควิดทุบดีมานด์น้ำมันวูบ แถมต้องลดกำลังการผลิตรับมาตรการใหม่ เสี่ยงขาดทุนสต๊อกเก่า แนะรัฐต้องสร้างสมดุลให้อยู่ ทั้งซัพพลายเชนชาวสวน-โรงงานไบโอดีเซล-ผู้ค้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าจะมีการหารือถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมันหลังจากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานเป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ในการลดการผสมไบโอดีเซลจาก B10 และ B7 ให้เห็นเหลือ B6 ซึ่งจะมีผลระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มแสดงความกังวลว่าการปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผสมใน B10 และ B7 จะหายไปถึง 1 ใน 4 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มปัจจุบันที่จำหน่าย กก.ละ 7-8 บาท

พร้อมทั้งพิจารณาขยายมาตรการส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ CPO จากสิ้นเดือนกันยายนออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม

เพราะมาตรการดังกล่าวทำให้ไทยส่งออกได้ดีขึ้น ช่วยลดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มของไทยจากเดือนกรกฎาคมที่มีสต๊อก 350,000 ตัน และสิงหาคมมี 330,000 ตัน เหลือ 280,000 ตันในเดือนกันยายน 2564 จึงจะพิจารณาขยาย จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

ล่าสุดนายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องการให้ภาครัฐบาลแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสมดุลให้กับห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งสมาคมเข้าใจทั้งฝั่งรัฐบาลที่ต้องดูแลราคาน้ำมัน เนื้อน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เรากัดฟันดูแลราคาได้ตามที่กำหนด แต่ก็เข้าใจฝั่งเกษตรกรและโรงงานที่ได้มีการลงทุนปลูกตามนโยบายส่งเสริมไปแล้ว

“มาตรการนี้จะทำให้ความต้องการใช้หายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ซ้ำเติมจากเดิมที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไบโอฯเจ็บตัวจากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ทำให้งดการเดินทาง การใช้น้ำมันจนต้องปรับลดกำลังการผลิตไปแล้ว 30-35% จากภาพรวม 9.4 ล้านลิตรต่อวัน เหลือเพียง 4 ล้านลิตรต่อวัน หากรัฐใช้มาตรการนี้คาดว่าการใช้จะลดลงไปอีกเหลือ 2 ล้านลิตรต่อวัน”

อีกทั้งมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ได้ผลิตไปแล้วในต้นทุนสต๊อกที่สูง กก.ละ 40 บาท ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องนำสต๊อกนั้นมาขายตามราคาที่รัฐบาลกำหนดใหม่ ซึ่งอาจทำให้ขาดทุนอีก และหากต่ออายุมาตรการนี้ไประยะยาว ผู้ประกอบการอาจจะไม่สามารถแบกรับภาระได้ ก็มีความเสี่ยงว่าจะต้องหยุดกิจการหรือไม่

“ที่ผ่านมาสมาคมได้หารือกับภาครัฐโดยผ่าน กนป.มาโดยตลอด แต่มาปีนี้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น โควิดก็มี น้ำมันก็แพง ปาล์มแพง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30 บาท ปีนี้ 40 บาท ตามกลไกตลาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนเกษตรกรชาวสวนเขาต้องห่วงกลัวราคาปาล์มจะตก เพราะตอนนี้ไบโอดีเซลเป็นผู้ใช้ที่คอยดึงน้ำมันปาล์มออกจากระบบมากกว่า 50% ถ้ากลไกนี้พังไปก็จะไม่ยั่งยืน ปาล์มกว่าจะลงทุนปลูกใช้เวลา 8 ปี อุตสาหกรรมก็ลงทุนสร้างไปแล้วจะให้หยุดอย่างไร สุดท้ายผู้บริโภคจะน่าห่วงที่สุด ซึ่งโมเดลที่จะสร้างความสมดุลต้องมาคุยกันให้มากขึ้น”

ทั้งนี้ โมเดลของประเทศผู้ผลิต CPO และไบโอดีเซลเหมือนกับไทยจะมีตัวอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะมาเลเซียปรับสูตรไปถึง B30 ส่งเสริมการใช้เต็มที่และมีการปรับขึ้นภาษีส่งออกเพื่อสามารถดึงวัตถุดิบไว้ใช้ในประเทศ แต่ไทยจะไปห้ามส่งออกก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เพราะเป็นหนึ่งในช่องทางการระบายผลผลิตที่ออกสู่ตลาด

นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการปรับสูตรมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้ว่ามาตรการนี้จะเป็นช่วงสั้น ๆ แค่ 25 วันก็จริง คนที่ผลิตเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าการปรับลดลงและการใช้นี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 หรือจะต่อไปอีก อุตสาหกรรมที่ลงทุนเครื่องจักรไปแล้วจะต้องวางแผนปรับการผลิตอย่างไร

“ภาครัฐบอกว่า การใช้มาตรการนี้เพราะจำเป็นจริง ๆ และใช้เพียงแค่ 1 เดือน แต่ผลทางจิตวิทยามันจะมากกว่า 1 เดือน เกษตรกรอาจจะกังวลว่าราคาจะลดลงหลังจากการใช้มาตรการ แต่เราโชคดีที่ตลาดโลกอยู่ในระดับสูงและเป็นจังหวะที่เราเปิดประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาความต้องการใช้หายไปจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลลดลงจากเดิมปี 2563 มีการใช้ดีเซล 65-70 ล้านลิตรต่อวัน และดีเซล 45-50 ล้านลิตรต่อวัน แต่เมื่อเปิดประเทศมันจะฟื้นกลับมา”

“สถานการณ์การส่งออกก็ถือว่ามีมากพอสมควร ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การกลับมาเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และจากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มของโลกอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียมีปริมาณผลผลิตไม่มาก”

“โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมาเลเซียประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานหลังจากที่ปิดประเทศช่วงโควิด ทำให้แรงงานชาวปากีสถานที่อยู่ในมาเลเซียลดลงหลายหมื่นอัตราและปัญหาน้ำท่วม ส่วนอินโดนีเซียก็ประสบปัญหาซัพพลายไทด์ ซึ่งเราจะสังเกตเห็นว่ามาเลเซียจะมีการปรับนโยบายขึ้นภาษีส่งออกทันทีเมื่อมีปัญหาซัพพลายตรึงตัว นั่นทำให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้น ส่วนราคา CPO ของไทย กก.ละ 40 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี”