จุรินทร์ดึง “ธนาคาร-แฟรนไชส์” สร้างอาชีพให้ประชาชน

“จุรินทร์” ดึง “ธนาคาร-ธุรกิจแฟรนไชส์” สร้างอาชีพให้ประชาชน คาดงานนี้มีคนสนใจกว่า 10,000 ราย เกิดมูลค่าการขายทั้งปี 4,600 ล้าน ส่งกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยชาติ

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเปิดโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ ฝ่าโควิด-19 ปี 2564 ว่า เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมกิจกรรมสร้างรายได้โดยมี 2 กิจกรรม ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประชาชนที่ต้องการมีรายได้

คือ 1.กิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow ใน 15 จังหวัดทั่วทุกภาค ยกขบวนแฟรนไชส์ไปแสดงและขายลูกช่วง รวม 15 จังหวัด ตลอดเดือนตุลาคมนี้ จะช่วยขยายธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีบทบาทในภาคเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น และ 2.จัดกิจกรรมรวมเป็นงานใหญ่ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้กิจกรรม MOC แฟรนไชส์สร้างอาชีพ โดยจัด 5 วัน ช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ จะมีแฟรนไชส์กว่า 400 รายเข้าไปร่วม และจะมีการประชาสัมพันธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ และขายลูกช่วงในงานนั้นด้วยที่สำคัญคือ จะมีการขายลูกช่วงในราคาพิเศษ และจะมีโครงการจับคู่กู้เงินระหว่างสถาบันการเงินกับแฟรนไชส์เกิดขึ้นด้วย

“โครงการจับคู่กู้เงินภาค 3 ต่อจากจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับร้านอาหาร จับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ผลที่จะเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมนี้คือ จะช่วยให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย จะช่วยก่อให้เกิดการขายลูกช่วง หรือไลเซนต์ เฉพาะงานนี้จะมีเงินสะพัดกว่า 1,500 ล้านบาท และจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 4,600 ล้านบาท”

ทั้งนี้ โครงการที่จัดทำขึ้นคาดว่าจะช่วยเศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจุบันที่มีมูลค่าตั้งแต่หลัก 2,000 บาท ไปถึงหลัก 10 ล้านบาท ในปี 2564 มีแฟรนไชส์ของคนไทยจำนวน 597 แฟรนไชส์ มูลค่าการตลาดเฉลี่ยปีละ 300,000 ล้านบาท และแฟรนไชส์ 557 ธุรกิจ มีลูกช่วงที่เป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์ไป 42,000 รายทั่วประเทศ

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นฟันเฟืองและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่กรมได้ดำเนินการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 โดยนำธุรกิจแฟรนไชส์มาเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการสร้างอาชีพแก่ผู้ว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสร้างโอกาสการลงทุนให้กับผู้ที่ต้องการมีธุรกิจของตนเอง โดยมีหน่วยงานพันธมิตรในการบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์กับกรมเป็นอย่างดี ได้แก่ สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนต์ เและสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน