เกษตรกรเลี้ยงปลานิลในกระชังช้ำ พายุถล่มตาย 300 ตัน เสียหาย 18 ล้าน

กรมประมงพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังลำน้ำชีท่วมพื้นที่ ปลาในกระชังน็อกน้ำตาย 300 ตัน เสียหาย 18 ล้านบาท ตัวแทนฟาร์มเอกชนช่วยปัจจัยการผลิตให้เครดิตค่าอาหารปลาตลอดการเลี้ยงในรอบต่อไป เผยเกณฑ์เยียวยาผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วประเทศ ที่ประสบภัยพิบัติ ผู้เลี้ยงปลารับ 4,682 บาท/ไร่ กุ้งก้ามกราม รับสูงสุด 11,780/ไร่

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์พร้อมออกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยให้สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทำประมงน้ำจืดกาฬสินธุ์ (เขื่อนลำปาว) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม ในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดเรือลำเลียงปลาที่สามารถจำหน่ายได้ และปลาที่เน่าเสียขึ้นฝั่ง รวมทั้งหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

ซึ่งปัจจุบันสามารถสรุปยอดความเสียหายได้รวมมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 42 ราย กระชังที่ได้รับความเสียหาย 972 กระชัง ปริมาณผลผลิตปลานิลที่เสียหายประมาณ 300 ตัน โดยทางสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามได้มีการสำรวจข้อมูลด้านการเลี้ยงปลานิลของเกษตรกรในพื้นที่พบว่า มีการเลี้ยงใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. การเลี้ยงแบบทำสัญญากับฟาร์มเอกชน โดยเกษตรกรจะต้องซื้อลูกพันธุ์และอาหารปลาจากฟาร์มเอกชน เมื่อผลผลิตได้ตามขนาดที่ตลาดต้องการ ฟาร์มเอกชนจะรับซื้อคืน ตามราคาของตลาดและฟาร์มเอกชนจะให้ราคาเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งมีเกษตรกรทำการเลี้ยงลักษณะเช่นนี้ จำนวนถึง 30 ราย และ 2. เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงอิสระ โดยเป็นการเลี้ยงแบบจัดซื้อลูกพันธุ์และอาหารปลา รวมถึงจัดหาตลาดด้วยตนเอง

ล่าสุด กรมประมงได้มอบหมายให้นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม และตัวแทนฟาร์มเอกชน จำนวน 3 ราย ที่ทำสัญญากับผู้เลี้ยงปลาในกระชังลำน้ำชี จัดประชุมหารือกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการได้ชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) กับกรมประมง สามารถขอรับความช่วยเหลือผ่านทางหน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัด ซึ่งจะได้รับพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้ในเรื่องเกษตรพันธะสัญญา ตลอดจนได้มีการหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากฟาร์มเอกชนที่ทำสัญญากับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา

ทั้งนี้ ตัวแทนฟาร์มเอกชนยินดีจะให้ความช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านอาหาร โดยจะให้เครดิตค่าอาหารปลาตลอดการเลี้ยงในรอบต่อไป ซึ่งผลปรากฏว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาพึงพอใจในการให้ความช่วยเหลือของฟาร์มเอกชนและขอบคุณหน่วยงานราชการที่เป็นสื่อกลางในการหารือในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์น้ำเข้าสู่สภาวะปกติ กรมประมงมอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามเร่งดำเนินการสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือและชดเชยเยียวยาเกษตรกร ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยสถานการณ์อุทกภัยด้านการประมง ซึ่งมี 3 ระยะ ได้แก่

1. การดำเนินการก่อนเกิดภัย เพื่อเตรียมความพร้อม ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านวิชาการ วางแผนการจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเหมาะสมขึ้นมาจำหน่าย และการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำที่มากับอุทกภัย

2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัย โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรม ดำเนินการติดตามและสำรวจความเสียหาย รวมถึงสั่งการให้หน่วยงานของกรมประมงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดตาม เฝ้าระวัง พร้อมทั้งจัดเรือตรวจการณ์ประมง รถยนต์ และเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมถึงเข้าร่วมปฏิบัติงานกับแผนฉุกเฉินในพื้นที่

3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัย โดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงินแก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติ

ดังนี้ 1. เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล อัตราการช่วยเหลือไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 2. เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลา หรือสัตว์น้ำอื่น อัตราการช่วยเหลือไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และ 3. เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง หรือบ่อซีเมนต์ อัตราการช่วยเหลือตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร

ทั้งนี้ กรณีเงินงบประมาณไม่เพียงพอสามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป สำหรับความเสียหายด้านประมงในขณะนี้

จากการสำรวจพบพื้นที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายแล้ว 231 อำเภอ 39 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี นครราชสีมา เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู  ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร กาฬสินธุ์ สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี สระแก้ว ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ตราด และจันทบุรี พื้นที่เสียหายรวมกว่า 54,607 ไร่ และจำนวนกว่า 48,136.88 ตารางเมตร แบ่งเป็น เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง    กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล 1,223.71 ไร่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน 53,383.29 ไร่ และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน 48,136.88 ตารางเมตร รวมเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 39,264 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 721,148,180 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2564) ซึ่งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงหากได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้โดยให้หน่วยงานกรมประมงภายในจังหวัดพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป